"กมธ.การเมือง" วุฒิสภา ชงรายงาน เสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรคการเมือง ปมใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง -เอาผิดเกรียนคีย์บอร์ด แนะให้ เพิ่มบุคลากรเก่งเทคโนโลยี-โซเชียล
วันที่ 8 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. เป็นประธานกมธ. ซึ่งเสนอผลการศึกษา เรื่อง การพัฒนาพรรคการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล : ปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยเน้นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย และมีข้อเสนอต่อการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญ ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารตามประเด็นทางการเมืองของพรรค ซึ่งพบปัญหาคือ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นจริง สร้างความเข้าใจผิด ทั้งนี้พรรคการเมืองมีความไม่เท่าเทียมในการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการหาเสียงและการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มที่ใช้สื่อสังคมเป็นหลัก โดยพรรคการเมืองท่ีมีความพร้อมและใช้ประโยชน์จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ พรรคก้าวไกล ที่พบว่ามีสมาชิกมากสุด โพสต์บ่อยครั้ง รองลงมา คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับการกำกับ และตรวจสอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า ระเบียบไม่ทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพราะกกต.ออกระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ที่กำหนดขอบเขตการหาเสียงอิเล็กทรอนิกส์ไว้เพื่อให้การหาเสียงมีหลากหลายช่องทาง ขณะที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 70 กำหนด กกต. ออกคำสั่ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลที่ไม่ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด และระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีหาเสียงและลักษณะต้องห้ามการหาเสียงเลือกตั้ง สส. พ.ศ.2561 กำหนดกรอบค่าใช้จ่ายหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไม่เกิน 10,000 บาท
“ปัญหาที่ กกต. ประสบ คือ มีสื่อโฆษณาหาเสียงจำนวนมาก ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ เพราะพบเฟกนิวส์ การให้ข้อมูลที่เป็นลบกับผู้สมัคร การปฏิเสธความรับผิดชอบ และ กกต. ไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย มีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และงบประมาณ” รายงานระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รายงานของกมธ. ยังมีข้อเสนอด้านกฎหมาย คือ แก้ไข มาตรา 23 มาตรา 57 มาตรา 62 มาตรา 64 มาตรา 70 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และระเบียยบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ข้อ33 และ ข้อ 34 ให้ทันสมัย เพื่อใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมความรู้ การเมือง การปกครอง และเพิ่มช่องทางให้พรรคการเมืองระดมทุน การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้เหมาะสมใต้ข้อกฎหมาย
แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ.2561 มาตรา 69, มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 73(5) มาตรา 79 มาตรา 81 และ มาตรา156 รวมถึงแก้ไขระเบียบกกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง สส. เพื่อกำหนดให้การควบคุมการหาเสียงเลือกตั้งและการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงคอนเทนต์ของผู้สมัครหรือโจมตีพรรคการเมือง ผู้สมัคร, การดำเนินการเอาผิดผู้ที่กระทำผิด ทั้งผู้แชร์ข้อมูล เพื่อให้เกรียนคีย์บอร์ดเกรงกลัว ไม่ทำผิดต่อเนื่อง เพิ่มความรวดเร็วและกระชับในการลงโทษในกระบวนการยุติธรรม