นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชน ทั้ง 8 อำเภอ มีประชาชนใช้บริการแล้ว 23,966 คน วันนี้ที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ เปิด 14 คลินิกด้วยนโยบายยกระดับปรับระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนมีผู้เข้ารับบริการรวม 3,000 คน

วันนี้ (7 เมษายน 2567) ที่ โรงเรียนเซกา อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ของจังหวัดบึงกาฬ

โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายนิพนธ์ คนขยัน ส.ส.พรรคเพื่อไทย บึงกาฬ เขต 3 นายสยาม เพ็งทอง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย บึงกาฬ เขต1นายสุวรรณา กุมภิโร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย บึงกาฬ เขต2 นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายวรพันธ์ ชำนิยนต์ ปลัดจังหวัดฯ และนางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังมีคณะผู้บริหารส่วนกลางและผู้บริหารในพื้นที่ร่วมเปิดงานด้วย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่าโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ของจังหวัดบึงกาฬ มีการวางแผนออกให้บริการหน่วยแพทย์เฉพาะทางและจิตอาสาในพื้นที่ห่างไกลทั้ง 8 อำเภอ ในวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่อเนื่องตลอดปี 2567 โดยโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด ทำให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และคัดกรองความเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญได้อย่างครอบคลุม

โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนได้รับบริการรวมทั้งสิ้น 23,966 คน ซึ่งผลคัดกรองที่สำคัญ อาทิ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มีประชาชนเข้ารับการคัดกรอง 1,006 ราย พบ ผิดปกติส่งต่อเพื่อวินิจฉัยยืนยัน 432 ราย, มะเร็งเต้านม คัดกรอง 1,756 รายพบ ผิดปกติส่งต่อเพื่อวินิจฉัยยืนยัน 72 ราย , สายตาเด็กและผู้สูงอายุ เข้ารับการคัดกรอง 1,474 ราย ผิดปกติส่งต่อเพื่อวินิจฉัยยืนยัน 814 ราย เป็นต้น สำหรับโครงการในวันนี้ มีการจัดบริการ 14 คลินิกหลัก คือ 1) คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ/มะเร็งท่อน้ำดี 2) คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 3) คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

4) คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม 5) คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ 6) คลินิกทันตกรรม 7) คลินิกกระดูกและข้อ 8) คลินิกสุขภาพจิต 9) คลินิกแพทย์แผนไทย 10) คลินิกคัดกรองวัณโรค 11) คลินิกกายภาพบำบัด 12) คลินิกบริการเภสัชกรรม 13) ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ 14) คลินิกตรวจโรคทั่วไปด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่มารับบริการได้เข้าใจการยกระดับ ปรับระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และจิตอาสา โดยมีประชาชนเข้ารับบริการในคลินิกต่างๆ รวม 3,000 คน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวถึงความก้าวหน้าของการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ว่า จะเริ่มระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป อย่างบึงกาฬของเราอยู่ในเขตบริการสุขภาพที่ 8 ซึ่งมีอยู่ 7 จังหวัด (อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) เราจะเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไปที่จะเปิดบริการ โดยขณะนี้เราดำเนินการไป 2 ระยะแล้ว 12 จังหวัด ระยะแรก 4 จังหวัด ระยะที่สอง 8 จังหวัด และระยะที่สาม มีเขตบริการสุขภาพที่เราจะนำเข้าโครงการทั้งหมด 6 เขตบริการสุขภาพ ได้แก่ เขตบริการสุขภาพที่ 1 จำนวน 8 จังหวัด เขตบริการสุขภาพที่ 3 จำนวน 5 จังหวัด เขตบริการสุขภาพที่ 4 จำนวน 8 จังหวัด เขตบริการสุขภาพที่ 8 จำนวน 7 จังหวัด เขตบริการสุขภาพที่ 9 จำนวน 4 จังหวัด และเขตบริการสุขภาพที่ 12 อีกจำนวน 7 จังหวัด โดยระยะสาม ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคม - กันยายน นั่นหมายความว่า เมื่อเราเปิดครบไปถึงกันยายนแล้ว จะมีประมาณ 40 จังหวัด ที่พี่น้องประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้าไปรักษาได้ทุกจังหวัดเหมือนกัน และตั้งแต่ตุลาคมถึงสิ้นปีนี้ ก็จะเพิ่มจังหวัดที่เหลือทั้งหมด แต่กรุงเทพมหานครเริ่มแล้วในเดือนเมษายนนี้ เริ่มโซนที่ 3 จาก 7 โซน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวถึงของขวัญเนื่องในวันปีใหม่ไทยจากกระทรวงสาธารณสุข ว่า 1.โครงการพาหมอมาหาประชาชนในวันนี้ 2. 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล 1 เขตบริการสุขภาพ ให้มีศักยภาพที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการบริการทางการแพทย์การสาธารณสุข เติมเต็มแพทย์เข้ามาในเขตนี้ โดยเขตบริการสุขภาพที่ 8 เป็นเขตที่มีอัตราส่วนหมอต่อประชากรน้อยที่สุด หรือหมอน้อยแต่ประชากรเยอะที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจึงวางแผนที่จะเติมเต็มแพทย์จบใหม่ในปีที่จะถึงนี้ที่เขตบริการสุขภาพที่ 8 จำนวน 250 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดบึงกาฬ จะได้รับค่อนข้างมาก อุดรธานี มีพร้อมมากกว่า อาจจะได้น้อยกว่า ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะดูว่าที่ไหนต้องเติมแพทย์เท่าไหร่ตามที่ควรจะเป็น 3.โครงการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ทางการสาธารณสุข เพื่อหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชน ใน รพ.สต. 9 หมอ เช่น หมอที่เป็นแพทยศาสตรบัณฑิต พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ฯลฯ โดยจะเริ่มผลิตปี 2568 จะมีการคัดเลือกบุคลากรในพื้นที่แต่ละพื้นที่เข้าไปเรียน แล้วกลับมาทำงานในพื้นที่ น้อง ๆ พยาบาลอยากเรียนหมอ ไปเรียนต่อได้ เราเปิดช่องให้เรียน ซึ่งน่าจะเป็นของขวัญที่ดีสำหรับพี่น้องชาวบึงกาฬที่ขาดแคลนแพทย์ อย่างไรก็ตามของขวัญที่ดีที่สุดคือ พี่น้องประชาชนต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เนื่องในวันนี้เป็นวัน “อนามัยโลก 7 เมษายน 2567“ถือเป็นสิ่งที่โลกให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาวะอนามัย คำว่า สุขภาวะ คือ ความสมบูรณ์พร้อมทางด้านร่างกาย ทางด้านจิตใจ ทางสติปัญญา จิตวิญญาณ และสุขภาพทางสังคม เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันที่จะสร้างสุขภาวะตรงนี้ให้สมบูรณ์พร้อม โดยการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเอง ป้องกันโรค ต้องรู้เท่าทัน และสุขภาพทางปัญญา อะไรที่เป็นพิษเป็นภัย และอันตรายต่อสุขภาพ ต้องหลีกเลี่ยงและรู้เท่าทัน งานเรื่องเวชศาสตร์วิถีชีวิต ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่เราพยายามผลักดัน ขับเคลื่อน จะตอบโจทย์เรื่องสุขภาพอนามัยได้ดี  โดยเฉพาะสุขภาพอนามัยมิติเชิงสังคม ตรงนี้ต้องช่วยกัน ขอให้ทุกท่านมีสุขภาวะที่ดี อนามัยที่ดีในวันอนามัยโลก จากนั้นได้เดินทางต่อไปเปิดอาคารผู้ป่วยใน ที่ รพ.โซ่พิสัย อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

ขณะที่นางสมปอง บุตรบง อสม.จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำบอน ตำบลน้ำจั้น อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า รู้สึกดีใจสุด ๆ เลยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่มาหาประชาชน นอกจากนี้ยังได้ขอบคุณเรื่องเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อสม.และรอบล่าสุดได้รับเดือนละ 2,000 บาท.