“รมช.ไชยา” สั่ง “จุดบั้งไฟทำฝน” ชี้เป็นการทำฝนที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสาน ย้ำมีผลวิจัยรองรับ ไม่เป็นอันตราย พร้อมยกให้เป็น Soft Power นำร่องที่จังหวัดยโสธร ในงานบุญบั้งไฟพญานาคมิถุนายนนี้
วันที่ 7 มิ.ย.67 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมรับมือสถานการณ์เอลนิโญ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ และใกล้ฤดูการเพาะปลูกจึงต้องวางแผนรับมือเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในการจัดทำฝนเทียม โดยอาศัยกิจกรรมจุดบั้งไฟพญานาค ซึ่งเป็นประเพณีขอฝนของคนอีสาน ติดอุปกรณ์และสารทำฝนขึ้นไปด้วย พร้อมโปรยสารเคมีทำฝน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย โดยจะเริ่มนำร่องโครงการที่จังหวัดยโสธร พื้นที่ภาคอีสาน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งเป็นช่วงกิจกรรมงานบุญบั้งไฟพญานาค เพราะถือเป็นขอฝนของคนอีสาน ปัจจุบันการยิงบั้งไฟมีความสูงใกล้เคียงกับเครื่องบินสำหรับทำฝนเทียมได้ถึง 2 หมื่นฟุต
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ศึกษางานวิจัยการใช้จรวดทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้นำงานวิจัยมาปรับใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการสร้างบั้งไฟบรรจุสารก่อฝน โดยประเพณีบุญบั้งไฟเดือนหก จะมีการจัดทำบั้งไฟและจุดบั้งไฟขึ้นสู่ฟ้า เพื่อขอฝนกับพญาแถนตามความเชื่อของคนภาคอีสาน และจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ดังนั้น จะอาศัยประเพณีดังกล่าว จัดทำฝนขึ้น ซึ่งจะติดอุปกรณ์ที่บรรจุสารเคมีไปกับบั้งไฟ เพื่อให้ไประเบิดในชั้นบรรยากาศ กระจายตัว เป็นหลักการเดียวกับผลงานวิจัยที่ทำร่วมกับกองทัพในเรื่องจรวดทำฝนเทียม ที่นำสารเคมีทำฝนบรรจุในรูปแบบแคปซูล ติดไปกับจรวดเพื่อยิงขึ้นชั้นบรรยากาศ โดยจะเปลี่ยนจากจรวดมาเป็นบั้งไฟเท่านั้น ซึ่งได้มีการทดลองทำ ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ว ที่สำคัญสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการใช้เครื่องบิน
“วิธีการดังกล่าว ถือว่าเรามีของดีสามารถผลักดันเป็น ซอร์ฟพาวเวอร์ ดีกว่าที่จะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟอย่างเดียว เพื่อจะทำให้ภาคอีสานมีฝนตก และเหตุที่เลือกจังหวัดยโสธรเพราะเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องบุญบั้งไฟพญานาค” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว