จากกรณีประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) ติดตามความคืบหน้าแนวทางแก้ปัญหาโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้านบาท และอีก 7 โครงการงบประมาณรวมกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่กรมโยธาฯ แจงเบื้องต้นจะยกเลิกสัญญา 1 โครงการ คือโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148 ล้านบาท ด้านชาวบ้านเรียกร้องให้กรมโยธาฯ โชว์หลักฐานเลิกสัญญาต่อสาธารณชน รวมทั้งให้ขึ้นแบล็คลิสต์ และยกเลิกโครงการสร้างตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบ 108 ล้านอีก 1 โครงการ เนื่องจากเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน และทำงานไม่เสร็จ เกินกำหนดสัญญาด้วย 

 

วันที่ 7 เมษายน 2567 นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.67 เป็นต้นมา หลังจากที่ คณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับ ปปท.เขต 4 และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่สอดส่องการก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบท่อประปาป้องกันน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148 ล้าน และโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้าน ซึ่งทำงานล่าช้า ทั้งนี้ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน และผู้ประกอบการมานานถึง 5 ปี  ว่า มีการทิ้งงาน และทิ้งปัญหาให้ชาวเมืองกาฬสินธุ์เผชิญ หลังจากวันนั้นมีรายงานว่าอธิบดีกรมโยธาฯ มีมาตรการที่จะดำเนินกับผู้รับเหมารายดังกล่าวแล้ว ทั้งจะยกเลิกสัญญา 1 โครงการ และจะขึ้นแบล็กลิสต์กับผู้รับเหมาที่ไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไร เพราะยังไม่เห็นประกาศเป็นทางการออกมา

ขณะที่ นายชาญยุทธ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่รอคอยชัดเจนจากอธิบดีกรมโยธาฯ คณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ลงพื้นที่สอดส่องทั้ง 8 โครงการ และรับฟังปัญหากับชุมชน ทราบว่ากรมโยธาฯจัดมาลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ช่วงปี 62-65 ทั้งหมด 8 โครงการ งบประมาณกว่า 558,281,000 ล้านบาท ซึ่งทุกโครงการมาในลักษณะเดียวกัน คือเป็นงบประมาณของกรมโยธาฯ และได้ผู้รับเหมาที่ชนะการเสนอด้วยวิธีการประกวดราคาอีเลคทรอนิคส์หรืออีบิดดิ้ง และมีปัญหาเดียวกันคือทำงานช้ากว่ากำหนด แต่ได้รับการขยายเวลา และถูกปรับ 0 บาท มีการเบิกจ่ายเงินงวดงานไปแล้วประมาณ 204,871,250 บาท 

ซึ่ง คณะธรรมาภิบาลฯ มีข้อมูลครอบคลุมทุกด้านอย่าง และได้รายงานต่อสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้วบางส่วน ในลำดับจากนี้ไปก็จะได้รวบรวมพยานหลักฐาน ส่ง ปปช.-ปปง.-สตง.-ดีเอสไอ รวมทั้งข้อร้องเรียนของชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ผู้รับเหมารายย่อย เพื่อยื่นต่อกรรมาธิการ ปปช.และกรรมาธิการ ปปง. ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาคุณสมบัติผู้รับเหมาและส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยคาดว่าหลังสงกรานต์จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของการดำเนินการกับผู้รับเหมา การเยียวยาชาวบ้านและผู้รับเหมารายย่อย ที่ได้รับผลกระทบ 

ด้านนายฉายา   อายุ 75 ปี  ชาวบ้านชุมชนซอยน้ำทิพย์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เห็นโครงการก่อสร้างป้องกันตลิ่งมาในพื้นที่ ตนและชาวบ้านก็ดีใจ เพราะเป็นโครงการที่ดี คาดว่าต่อไปนี้กระแสน้ำลำปาวจะไม่กัดเซาะที่ดิน และเอ่อท่วมในฤดูฝนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่การทำงานของคนงานดูล่าช้ามาก มาทำงานไม่กี่วันก็หายไป 5-6 เดือนถึงกลับมาอีก งานก็ไม่เสร็จสักที แถมยังเปิดหน้าดินริมถนนไว้เป็นแนวยาว ก็เกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ รุจักรยานยนต์เสียหลัก เฉี่ยวชนกัน ได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง การทำงานที่ไม่ต่อเนื่องของโครงการฯ ที่ค้างคามานาน ทิ้งหลักฐานไว้เพียงเสาเข็มเป็นแนวยาว จะทำอะไรก็ไม่ทำ ปล่อยทิ้งให้เป็นสุสานเสาเข็ม เหมือนหน่วงเหนี่ยวความเจริญไว้ อยากให้กรมโยธาฯที่เป็นเจ้าของงบประมาณ มีมาตรการเร่งรัดและเด็ดขาดกับผู้รับเหมาด้วย เพราะชาวบ้านเดือดร้อนมาก และกลัวว่าจะสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปโดยเปล่าประโยชน์

ส่วน นายเยี่ยม อายุ 60 ปี  ม.2 ต.หัวฝ่าย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ คนงานก่อสร้างตอกเสาเข็ม โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว ซอยน้ำทิพย์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่าจุดที่ตนมารับจ้างดังกล่าว มีความยาว 937 เมตร  งบประมาณ 59,350,000 บาท มาทำงานประมาณกลางปี 66 ที่ผ่านมาทราบว่า นายจ้างซึ่งเป็นผู้รับเหมารายย่อย รับช่วงงานต่อจากผู้รับเหมารายใหญ่ มีปัญหาการเบิกจ่ายเงินงวดงานมาตลอด ตนและคนงานก็ได้แต่ทุกข์ใจและอดทน เพราะเงินค่าแรงไม่ได้ตามกำหนด ตลอดปีที่ผ่านมาไม่ต่างกับทำงานฟรี เห็นแต่นายจ้างไปหากู้เงินจากที่อื่นมาสำรองจ่าย และซื้ออาหารกินไปวันๆเท่านั้น เพราะยังไม่ได้ค่าแรงเลย เฉลี่ยที่ค้างจ่ายประมาณ 3 หมื่นบาท ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้รับเหมารายใหญ่ จึงไม่จ่ายเงินให้ตามงวดงาน

อย่างไรก็ตาม จากกรณีกรมโยธาธิการจะยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายดังกล่าว ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะของผู้รับเหมา และเกิดเหตุการณ์ล้มบนฟูกได้ จึงเป็นความหนักใจของผู้รับเหมารายย่อย ที่รับช่วงงานต่อจากผู้รับเหมารายดังกล่าว ที่ยังไม่เงินค่าจ้างตามงวดงาน และโอกาสที่จะได้เงินค่าจ้างยิ่งมืดมนยิ่งขึ้น แถมยังต้องแบกรับภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาสำรองจ่ายค่าแรงลูกน้อง รวมทั้งค่าวัสดุ อุปกรณ์การก่อสร้างเป็นจำนวนมากอีกกด้วย ล่าสุด มีรายงานว่าผู้รับเหมารายย่อยกลุ่มดังกล่าวประมาณ 50 คน กำลังรวบรวมหลักฐาน เช่น สัญญารับช่วงงาน ภาพถ่ายขณะทำงาน บันทึกการพูดคุยในประเด็นที่สำคัญ ที่ผู้รับเหมาขาใหญ่บ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างตามงวดงาน เพื่อเป็นข้อมูลนำปรึกษาฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งกรมแรงงาน ในการติดตามทวงเงินค่าจ้าง และแจ้งความดำเนินคดี ฐานฉ้อโกงแรงงานต่อไป