ไม้จันทน์หอม ต้นไม้มงคลที่ถูกเลือกไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญหลายต่อหลายพิธี วันนี้มาทำความรู้จักไม้จันทน์หอมกัน
ถ้าให้กล่าวถึงต้นไม้มงคลในบ้านเรา ก็ต้องบอกว่ามีอยู่หลายต้นมาก ๆ แต่ไม้มงคลที่กำลังเป็นที่สนใจในช่วงเวลานี้ นั่นคือไม้จันทน์หอม เพราะเป็นไม้มงคลที่จะนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงขอนำเสนอข้อมูลไม้จันทน์หอม ไม้มงคลยิ่งเพื่อให้ชาวไทยทุกคนได้รู้จักกัน
ความเป็นมาของไม้จันทน์หอม
จันทน์หอม เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยไม้จันทน์หอมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sandalwood ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์ของไม้จันทน์หอม คือ Mansonia gagei J. R. Drumm. ex Prain อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae นอกจากนี้ไม้จันทน์หอมยังมีชื่อสามัญว่า Kalamet และยังมีชื่อไทยอื่น ๆ เช่น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว และจันทน์พม่าด้วย
ลักษณะต้นจันทน์หอม
จันทน์หอมเป็นไม้ต้น ผลัดใบ ความสูง 10-20 เมตร เปลือกสีเทาแตกเป็นร่อง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ความกว้างของใบประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจตื้น ๆ มีลักษณะเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ มีเส้นโคนใบประมาณ 3-5 เส้น ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและซอกใบ ดอกเป็นสีขาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกประมาณอย่างละ 5 กลีบ โดยที่กลีบเลี้ยงยาวกว่ากลีบดอก ออกดอกในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนผลเป็นผลปีกเดียวรูปกระสวย ความยาวของผลประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มักออกผลเป็นคู่
นิเวศวิทยาของไม้จันทน์หอม
ไม้จันทน์หอมมีเขตการกระจายพันธุ์ที่อินเดีย พม่า และในไทย โดยไม้จันทน์หอมจะขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ตามเขาหินปูน ส่วนมากพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-400 เมตร
ไม้จันทน์หอม สรรพคุณ มีอะไรบ้าง
ไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายจะมีกลิ่นหอมมาก ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป และไม้จันทน์หอมยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย
ส่วนน้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้สามารถใช้ปรุงเครื่องหอม เครื่องสำอาง และใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจก็ได้
ทำไมถึงใช้ไม้จันทน์หอมในพระราชพิธี
เหตุผลที่ใช้ไม้จันทน์หอมในพระราชพิธี นั่นเพราะว่า ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าหายาก จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ที่ถูกนำไปใช้ในงานพระราชพิธีนับตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล โดยพบประวัติการใช้ไม้หอมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับแต่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบประวัติที่ระบุในจดหมายเหตุว่า ไม้จันทน์หอมเป็นเครื่องหมายบรรณาการที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย
และด้วยความที่เนื้อไม้จันทน์หอมจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เนื้อไม้แข็ง มีความละเอียด จึงนิยมนำไม้จันทน์มาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไม่ว่าไม้จันทน์หอมจะเป็นหรือตาย ก็ยังคงมีความหอม เปรียบเหมือนคนที่ตอนมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดีไว้มากมาย แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ความดีนั้นก็ยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน ความหอมของไม้จันทน์ยังช่วยรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เนื่อจากในสมัยก่อนยังไม่มีการฉีดยา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม้จันทน์หายากและมีราคาแพง จึงนิยมนำมาใช้เฉพาะในงานพระศพของราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ภายหลังกรมพระยาดำรงราชนุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นบาง ๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพและนิยมใช้จนถึงปัจจุบัน
พิธีตัดไม้จันทน์หอม
สำหรับพิธีตัดไม้จันทน์หอมจะประกอบไปด้วยการบวงสรวง ก่อนจะใช้ขวานทองจามไปที่ต้นไม้ที่ถูกคัดเลือกไว้แล้วในเชิงสัญลักษณ์แต่ยังไม่ได้เป็นการตัดจริง โดยจะต้องรอให้ทางช่างสิบหมู่ออกแบบกำหนดลักษณะไม้ที่ต้องการเสร็จสิ้นก่อน จึงจะทำการตัดจริงได้ อีกทั้งต้นไม้จันทน์หอมที่เลือกจะต้องเป็นต้นที่ตายพราย โดยพิจารณาจากลักษณะไม้ที่มีเนื้อหอม เนื้อไม้แกร่ง เปลาตรง คุณภาพดี ซึ่งก่อนตัดก็ต้องทำพิธีขอจากรุกขเมวดาโดยพราหมณ์อ่านโองการและตัดตามฤกษ์ดีเท่านั้น
ทั้งนี้ไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถูกคัดเลือกไว้ 4 ต้นด้วยกัน จากทั้งหมด 19 ต้น คือต้นไม้จันทน์หอมลำดับที่ 10, 11, 14 และ 15 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก นายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้อง และทุกต้นยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีกลิ่นหอม ลักษณะต้นไม้เปลาตรง ขนาดความโตตั้งแต่ 142-203 เซนติเมตร และสูง 11-15 เมตร
โดยมีกำหนดฤกษ์ตัด เวลา 14.09-14.39 นาที ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งจะมีการตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวง ตลอดจนเครื่องสังเวยต่าง ๆ โดยหลั่งน้ำเทพมนต์เจิมบริเวณต้นไม้จันทน์หอม และลงขวานทองที่ต้นไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15 เป็นปฐมฤกษ์ ก่อนจะตัดต้นที่เหลืออีก 3 ต้นพร้อมกัน