วันที่ 6 เม.ย. 67 เวลา 09.19 น. นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในงานรัฐพิธี วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่หอประชุมวิถีอีสาน ศาลากลางจังหวัดยโสธร โดยมี นายสุวัฒน์ เข็มเพชร นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายบันลือ สัมฤทธิ์จินตนา ปลัดจังหวัดยโสธร ศาล ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาด และชมรมแม่บ้านมหาดไทย เข้าร่วมพิธี เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระปฐมกษัตริย์ของ ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นำผู้ร่วมพิธีประกอบพิธีสงฆ์ ถวายภัตตาหาร และจตุปัจจัยไทยธรรม โดยมีพระเทพวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดยโสธร เจ้าอาวาสวัดหาธาตุ (พระอารามหลวง) พร้อมด้วย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ รวม 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นวางพานพุ่มดอกไม้ ถวายราชสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ และกล่าวคำประกาศราชสดุดีน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทั้งนี้ วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนา กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้าง พระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับเป็น เมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จากกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็นกรุงเทพมหานครอมร รัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหา กรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูป ของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะและได้ พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซม และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี นอกจากนี้ ยังได้ฉายสารคดีเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี ซึ่งผลิตโดยโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้รับชม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย