วันที่ 6 เม.ย.67 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ต้นปี 2567 ในระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม พบว่า มีประชาชนที่ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 27 คน จากจำนวนผู้ต้องขังคดีการเมือง 45 คน
ในภาพรวมสถานการณ์การยื่นประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดี มีแนวโน้มที่จะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา มีการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองทั้งหมด 42 ครั้ง แบ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 และ มาตรา 116 รวม 32 ครั้ง คดีที่สืบเนื่องมาจากเหตุระเบิด – วางเพลิง 9 ครั้ง และคดีละเมิดอำนาจศาล 1 ครั้ง ในจำนวนทั้งหมดนี้ ไม่มีศาลใดอนุญาตให้ประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองแม้แต่รายเดียว
เดือนมกราคม 2567 มีการยื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องขังทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ “บัสบาส” มงคล ถิรโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ วัย 30 ปี หลังเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 โดยให้บัสบาสมีความผิดอีก 11 กระทง ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง จำคุกกระทงละ 3 ปี ก่อนลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไปก่อนหน้านี้ ทำให้บัสบาสมีโทษจำคุกรวม 50 ปี
ซึ่งในเวลาต่อมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องขอประกันบัสบาสในระหว่างฎีกา โดยระบุคำสั่งว่า “พิจารณาจากคำร้องประกอบขอปล่อยชั่วคราวของจำเลย พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 50 ปี หากปล่อยชั่วคราวเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี ยกคำร้อง”
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ในกรณีของ “บุ้ง” เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการเดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งให้จำคุก 1 เดือน โดยไม่ได้ประกันตัว ส่วน “หยก” เยาวชนหญิงวัย 16 ปี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ศาลมีคำสั่งเพียงว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น
และเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ในกรณีของ “จิรวัฒน์” พ่อค้าขายของออนไลน์วัย 32 ปี ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), (5) ซึ่งจิรวัฒน์ถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์เมื่อปี 2564 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ว่า จิรวัฒน์มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 9 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดเหลือ 6 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมาจนข้ามปี และในการยื่นเดือนมกราคม 2567 นี้ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อนุญาตให้ประกันเช่นกัน
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ บรรยากาศของการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง เกิดขึ้นท่ามกลางการเปิดลงชื่อเสนอกฎหมาย “นิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งเป็นความพยายามให้ศาลทบทวนสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และได้รับการทบทวนคำพิพากษา-การกำหนดโทษต่าง ๆ จากศาลที่สูงขึ้นไป
ซึ่งเมื่อวันที่ 8 – 9 ก.พ. 2567 ทนายความได้ ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง รวม 15 คน ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างต่อสู้คดี แบ่งเป็นผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน ได้แก่ ทีปกร, วีรภาพ, อุดม, กัลยา, “แม็กกี้”, จิรวัฒน์ และ มงคล รวมถึงผู้ต้องขังในคดีอื่น ๆ ที่มีมูลเหตุจากการเมือง จำนวน 8 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, ไพฑูรย์, สุขสันต์ และ “บุ๊ค” ธนายุทธ
และต่อมาในวันที่ 14 ก.พ. 2567 ศาลยกคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องขังทั้ง 15 ราย ทุกฉบับ โดยไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแม้แต่คนเดียว โดยหลักๆ อ้างว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ซึ่งในส่วนของอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในคดีมาตรา 112 ทั้ง 2 คดี ที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว ได้แก่ คดีปราศรัย #ม็อบ14ตุลา63 และ คดีโพสต์วิจารณ์สถาบันฯ 3 ข้อความ แต่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ โดยระบุว่า “การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี”
และวันที่ 19 มี.ค. 2567 ทนายได้ยื่นประกันอานนท์อีกครั้งในคดีปราศรัย #ม็อบ14ตุลา63 หลังการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกัน ปัจจุบันอานนท์ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้ว
ทั้งในกรณีของ “ไบรท์” ชินวัตร โดยศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่า เขาได้มีการยื่นขอประกันตัว ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 และคดีปราศรัยที่หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 แต่ศาลก็ไม่ได้ให้ประกันทั้ง 2 คดี
ปัจจุบัน ในคดีมาตรา 112 ของไบรท์ ที่เขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาทั้งหมด 5 คดีแล้ว โดยมี 1 คดีที่ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา ขณะที่อีก 4 คดี ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด ได้แก่ คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว ลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีปราศรัยหน้า สน.บางเขน ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และคดีปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา63 หน้ากรมทหารราบที่ 11
และในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “อัฐสิษฎ” (สงวนนามสกุล) ศิลปินวัย 29 ปี กรณีทำเพจเผยแพร่ภาพวาดแนวเสียดสีสังคมจำนวน 2 ภาพ ระหว่างเดือน มิ.ย.- ต.ค. 2564 ที่ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน (หรือประมาณ 3 ปี) และให้ริบของกลางทั้งหมด ซึ่งภายหลังฟังคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 ศาลอาญาได้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของตะวันและแฟรงค์ ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 116 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 และถูกฝากขังระหว่างการสอบสวนจนครบ 48 วัน โดยทนายได้ยื่นขอประกันตัวตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคม เป็นจำนวน 7 ครั้ง แต่ศาลยกคำร้องทุกครั้ง แม้ในคำร้องขอประกันจะระบุถึงสภาวะวิกฤติทางร่างกายของทั้งสองคนจากการประท้วงอดอาหารเพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม
และล่าสุดในเดือนมีนาคมยังมีผู้ต้องขังใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย คือ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ จำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์
ขอบคุณ X-TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (@TLHR2014)
#ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน #ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง