วันที่ 6 เม.ย.2567 ที่โรงแรมเมเปิล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และสส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี2567วันนี้ ถึงการอภิปรายทั่วไปตาม ม.152 ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเองอภิปายระบุว่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการทำงานในสภาฯ รวมถึงก็มีสส.ในพรรคต่างโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันนั้น ว่า ไม่เลยครับ อย่างที่ตนบอก ว่าเป็นการทำงานที่อยู่กับปัจจุบัน มาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด วันนั้นเป็นการอภิปรายที่เกี่ยวกับ ม.152 ที่บอกว่ามันเสียดาย ประชาชนเสียดายโอกาสของประเทศ ที่จริงๆแล้วมันสามารถทำอะไรได้เยอะมาก กับใน 7 เดือนที่ผ่านมา และก็มีการสะสางข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ได้เสนอแนะไปแล้ว ว่ามันน่าจะถึงเวลาที่จะต้องปรับครม.ตอนนี้ เพื่อจะได้นำคนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกเพื่อให้คนที่มีประสิทธิเข้าไป ยืนยันว่าสมรรถภาพมันตามความท้าทายของประเทศได้ทัน ไม่ว่าเป็นเรื่องไฟป่าที่ยังไม่หยุด หรือเรื่อง PM 2.5 ที่ยังไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่โตช้าที่สุดในอาเซียนรองจากเมียนมาร์ ตามที่ world bank เพิ่งพูดมา มันก็ต้องปรับทั้งหมด รวมถึงเรื่องการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ

แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีทั้ง สิ่งที่เห็นด้วยอย่าง สส.รังสิมันต์ โรม ที่เห็นด้วยกับรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นต้น มันก็ตามเนื้อผ้าตรงไปตรงมาเท่านั้น เพียงแต่ว่าของเราก็ทำงานตามหน้าที่ยังตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่

"อย่างที่หัวหน้าพรรคพูดว่ารายละเอียดมันเยอะ มันคนละมาตรา คนละกฏหมาย เราคงจะต้องดูรายละเอียด และดูว่าเราต้องใช้สิทธิ์ในการขอขยายเวลา และขอสิทธิ์ในการไต่สวน กว่าจะได้ต่อสู้ทางคดีอย่างเหมาะสม เพราะเรื่องนี้โทษหนักกว่าคราวที่แล้วเยอะ คราวที่แล้วมีเอาไว้เพียงแค่ปรามป้องกัน อันนั้นเรายังมีสิทธิ์ได้แต่สวนเลย แต่คราวนี้มันถึงกระทั่งยุบพรรค ประหารชีวิตการเมืองทั้งหลาย มันก็ควรที่จะให้สิทธิ์ในการขยายในรายละเอียดและก็ให้ต้องสู้อย่างเต็มที่ มันจะได้หมดข้อครหา แล้วเมื่อดูในรายละเอียดหากหัวหน้าเห็นด้วย ก็คงใช้สิทธิ์ในการขยายเวลาและก็ขอสิทธิ์ในการไต่สวน ในการสู้คดีเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน จะมาคิดว่าเหมือนคดีเดิมก็คงเป็นไปไม่ได้ " นายพิธากล่าว

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยที่ใช้คำว่าเซาะกร่อนบ่อนทำลาย จะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ว่ากฎหมายนั้นมีหลายมาตรา ซึ่งจะต้องดูว่าในมาตรานั้นมีเจตนารมณ์อย่างไร หากป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำ ก็จะมีสัดส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องถึงขั้นประหารทางการเมือง โดยเฉพาะการทำลายพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่กระทบต่อพรรคก้าวไกลแต่จะกระทบต่อระบบประชาธิปไตย ซึ่งฝ่ายค้านก็เป็นส่วนสำคัญ จึงต้องใช้ดุลยพินิจคนละรูปแบบกัน หรือหมายถึงมีคำวินิจฉัยแบบเดิมมา ก็ไม่ได้หมายถึงน้ำหนักของโทษจะต้องเท่ากัน จึงต้องใช้เวลาในการทำคำชี้แจงต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป พร้อมยืนยันว่าในส่วนของก้าวไกลไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวอะไร หรือไม่ได้รู้สึกเกรงกลัวอะไร แต่คำตอบที่ดีที่สุดคือการทำให้ประชาชนและสมาชิกพรรคมีความมั่นใจ หากว่าจิตใจทุรนทุรายก็จะไม่สามารถอภิปรายตามมาตรา 152 อย่าง 2 วันที่ผ่านมาได้ ยืนยันว่าสส. ทุกคนอภิปรายยังเต็มที่ ชกสุดหมัด

นายพิธา กล่าวต่อว่า จากการฟังความเห็นของทุกพรรคการเมือง ซึ่งต่างก็ไม่เห็นด้วยกับโทษยุบพรรค จึงฝากสื่อไปถามนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยุบพรรคเพื่อทำลายล้างทางการเมือง ที่ผ่านมาแล้ว 20 ปีการยุบพรรคการเมือง หากเป็นครั้งนี้ก็ถือว่าครั้งที่ 4-5 แล้ว ซึ่งต้องดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรรคก้าวไกลพรรคเดียวแต่เป็นเรื่องของระบบประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาต่อสู้ในระบบ ชนะก็คือชนะแพ้ก็คือแพ้ และส่วนตัวก็ไม่รู้ว่าผู้ที่มีอำนาจ ในการยุบพรรค ได้ถามตัวเองหรือไม่ว่ายุบพรรคไปจะได้อะไร ซึ่งในระยะสั้นอาจจะทำให้พรรคที่ถูกยุบอ่อนแรงลง ทำให้ฝ่ายค้านอันดับหนึ่งอ่อนแอลง แต่ในระยะยาวขณะเดียวกันมันก็เป็นการติดเทอร์โบ ทำให้พรรคที่ถูกยุบได้แต้มต่อทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า