วันที่ 6 เม.ย.67 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ระบุว่า

อุ๊งอิ๊งคือทายาททางการเมืองของทักษิณจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล

สาขาวิชาสถิติศาสตร์

สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง

คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ เคยเขียนไว้ในหนังสือเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ เอาไว้ว่า หากวิเคราะห์จากหลักเศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นอยู่ (Descriptive approach) เราจะเข้าใจได้ว่าการที่นักการเมืองเลือกใช้ทายาทหรือญาติพี่น้องมาลงเล่นการเมืองนั้นเป็นการประหยัดต้นทุนในทางเศรษฐศาสตร์ไปได้มากมายมหาศาล เพราะจะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ขายได้ โดยไม่ต้องปั้นหรือประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมาก ประชาชนก็รู้จักอยู่แล้ว ดังนั้นการปั้นทายาทหรือสืบทอดทายาททางการเมืองจึงเป็นการประหยัดต้นทุนทางการเมือง ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นวิธีการที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง

ผมเชื่อในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ มากกว่าครับ เพราะใช้อธิบายเรื่องทางการเมืองได้ดีกว่า

นายทักษิณ ชินวัตร กำลังใช้ทฤษฎีทางพันธุกรรม (Genetics) หรือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่าพันธุกรรม (nature) มีผลต่อเชาวน์ปัญญามากกว่าการเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อม (Nurture)

นักจิตวิทยาที่พยายามพิสูจน์ว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากๆ คนหนึ่งคือ Sir Cyril Burt ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแฝดไข่เดี่ยว แฝดไข่คู่ แฝดไข่คู่เลี้ยงดูร่วมกัน แฝดไข่คู่เลี้ยงดูแยกกัน พี่น้องท้องเดียวกันเลี้ยงดูร่วมกัน พี่น้องท้องเดียวกันเลี้ยงดูแยกกัน ที่เรียกว่าการศึกษาฝาแฝด (Twin studies) Burt นั้นยืนยันว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากกว่าการเลี้ยงดู ภายหลังมีการค้นพบหลังมรณกรรมของ Burt ว่า Burt นั้นปั้นแต่งข้อมูล (Data fabrication) ขึ้นมา ก็คงไม่ได้ต่างจากณัฐพล ใจจริงในกรณีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของที่จุฬาฯ นี่แหละครับ ทำให้ตำราจิตวิทยาทั่วไปต้องรื้อแก้ไขกันอุตลุต

Arthur Jensen นักจิตวิทยาการศึกษาและนักจิตวิทยาความแตกต่างระหว่างบุคคลชื่อก้องคนหนึ่ง เป็นคนที่มีแนวคิดในเรื่อง Nature-Nurture debate นี้ โดยสนับสนุนแนวคิดว่าเชาวน์ปัญญานั้นมีผลมาจากพันธุกรรมเป็นหลักใหญ่ และมีความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติที่ทำให้เชาวน์ปัญญาแตกต่างกันด้วย ความเห็นและผลการศึกษาของ Jensen นั้นได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงมากในสหรัฐอเมริกา โดยมองว่าเป็นการเหยียดสีผิว

ในขณะที่ Anne Anastasi นักจิตวิทยาด้านจิตมิติหรือการวัดทางจิตวิทยาชื่อก้องของโลก เมื่อเป็นนายกสมาคมจิตวิทยาอเมริกันใน ค.ศ. 1958 ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมจิตวิทยาอเมริกันเพื่อยุติข้อถกเถียงต่อคำถามที่ว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมหรือการเลี้ยงดู แต่ตั้งคำถามจากมุมมองของปฏิบัตินิยมว่า แล้วจะทำอย่างไร เชาวน์ปัญญาของคนเราไม่เท่ากัน อาจจะมาจากทั้งพันธุกรรมและการเลี้ยงดูจริง แต่สังคมและการศึกษาจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ในสังคมได้ ทำงานได้ เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคม และมีความสุขได้

ทัศนะของ Anne Anastasi ได้รับการยอมรับมากในเหล่านักจิตวิทยาและนักการศึกษาในปัจจุบัน

Howard Gardner ได้ศึกษาและตั้งทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple intelligence) ใน ค.ศ. 1983 โดยกล่าวว่าเชาวน์ปัญญามีหลายแง่มุม เช่น ทางดนตรี ทางมิติสัมพันธ์ ทางภาษา ทางตัวเลข ทางการเคลื่อนไหว ทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทางความเข้าใจในตน ทางความเข้าใจในธรรมชาติ เป็นต้น คนเราแต่ละคนมีเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านแตกต่างกันไป จำเป็นต้องเข้าใจและพัฒนาคนให้สอดคล้องกับศักยภาพทางปัญญาของแต่ละคนที่มีพหุปัญญาแต่ละด้านแตกต่างกันไป

การที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า อุ๊งอิ๊ง มี DNA ของตัวเขาและคุณหญิงพจมาน หากว่านายทักษิณ ทำได้ อุ๊งอิ๊งก็ย่อมทำได้นั้น แสดงให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตรมีทัศนะคล้อยตามว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากกว่าการเลี้ยงดูพอสมควร

แต่ก็ต้องยอมรับว่านายทักษิณ ชินวัตรและคุณหญิงพจมานน่าจะมีส่วนเลี้ยงดูอุ๊งอิ๊งมาเหมือนกัน ดังนั้นเชาวน์ปัญญาของอุ๊งอิ๊งน่าจะมีผลมาจากทั้งพันธุกรรมและการเลี้ยงดูก็เป็นไปได้

ที่น่าสนใจคือ พันธุกรรมใกล้เคียงกัน การเลี้ยงดูเท่ากัน จะฉลาดเท่าๆ กันหรือไม่ โอ๊ก เอม อุ๊งอิ๊ง จะฉลาดสามารถเท่าๆ กันหรือไม่?

แล้วความสามารถหรือความฉลาดที่นายทักษิณหมายถึงนั้น เป็นความฉลาดด้านไหนกันแน่ ถ้ามองจากทฤษฎีพหุปัญญาของ Howard Gardner

ตกลงนายทักษิณ ชินวัตร เชื่อแบบ Burt หรือ Jensen ที่ว่า ความฉลาดหรือเชาวน์ปัญญาถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือ DNA ใช่หรือไม่?

ผมคงไม่ยืนยันว่าสิ่งที่นายทักษิณ ชินวัตรพูด เป็นการพูดเพราะเชื่อมั่นในพันธุกรรมของตนเองและภรรยาว่าจะสามารถถ่ายทอดความสามารถและความฉลาดไปยังบุตรีคืออุ๊งอิ๊งได้ดีแค่ไหน

สิ่งที่ผมมั่นใจมากกว่าคือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า การเล่นการเมืองโดยทายาทของนักการเมืองหรือสืบทอดทายาททางการเมืองทำให้ประหยัดต้นทุนทางการเมือง นอกจากนี้ยังไว้ใจได้มากกว่า น่าจะชักใยบงการได้ง่ายกว่ามากอีกด้วย

จากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญและคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร ผมทำนายได้ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ชักจะไม่มั่นคงเสียแล้วครับ