สะพานอาชีพ ก.กก จากต้นไม้ใบหญ้า ถูกเพิ่ม “มูลค่า” เป็นผลิตภัณฑ์ แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ “คุณค่า” จากการแปรรูป “เสื่อกกและผือ” ที่ทั้งฟื้นภูมิปัญญาและสร้างรายได้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ “สานพลังพื้นที่ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา”
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบลโนนสมบูรณ์ บ้านโพธิ์ทอง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ว่าที่ ร.ต.พูนศักดิ์ พระรัตภูมี ศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ ประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ “สานพลังพื้นที่ ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา” ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)โดยมี นางกันยา อนันตทัศน์ รองนายก อบจ.บึงกาฬ นางสาวประภาพร สุพรรณ์ รอง ผอ.สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(สกร.).นายประเวช เหล่าประเสริฐ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบึงกาฬ ภาคีเครือข่าย สกร.ทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดบึงกาฬ นักขับเคลื่อนด้านการเรียนรู้จากภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ผู้นำชุมชนและประชาชน และภาคสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วย ผจก.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแผนการดำเนินงานของแต่ละหน่วยจัดการเรียนรู้ ที่เป็นภาคียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานร่วมกับ กสศ. เพื่อนำเสนอการพัฒนาและยกระดับทักษะการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการศึกษาทางเลือกของเยาวชนนอกระบบการศึกษา และแรงงานนอกระบบที่นำไปสู่การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างความร่วมมือการจัดการเรียนรู้ และการศึกษาทางเลือกของเยาวชนนอกระบบการศึกษา และแรงงานนอกระบบร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอุดรธานี เพื่อแนวทางรณรงค์ขับเคลื่อนความร่วมมือ “ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” และ “การศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่นกับคนทุกช่วงวัย” ในระดับพื้นที่
นอกจากนี้ได้จัดเวทีเสวนา ก.กก บึงกาฬ นักสร้างทาง สร้างการเรียนรู้ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและปราชญ์ชุมชนประกอบด้วย นายประเวช เหล่าประเสริฐ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ฯ (สกร.บึงกาฬ) นางรัศมี อืดผา ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน และที่ปรึกษาศูนย์การเรียนรู้ ก.กก บึงกาฬ นางสาวปิ่นทอง นันทะลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์บึงกาฬ นายณัฐพงศ์ พิมพ์ภักดี ครู ร.ร.โพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ นางบุญร่วม พิกุลทอง ประธานกองทุน ดำเนินรายการโดย นายภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 9 อสมท. อีกทั้งรับฟังเรื่องเล่าจากพื้นที่ “คนทอกก ทอใจคนบึงกาฬ” นางดวงใจ ทุมซ้าย ผู้นำฝ่ายผลิตวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง นางอุดร คำชาตา ประธานวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง เสียงจากพื้นที่ “สานเส้น สานใจ ก.กก บึงกาฬ” นายมงคล พลาลี ผอ.สกร.อำเภอเมืองบึงกาฬ นางณิชชา คำชมภู ผอ.สกร.อำเภอเซกา นางลำพอง อาจกิจ เกษตรอำเภอเมืองบึงกาฬ นางพร้อม อืดผา ปราชญ์ชุมชน
นอกจากนี้ เวทีนี้ยังได้สะท้อนแนวคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิมี ศ. ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ นางณัฐกฤตา พึ่งสุข ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ กลุ่มหมายพิเศษ นายมงคล พลาลี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองบึงกาฬ นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ นายพรเทพ เจริญผลจันทร์ เครือเบทาโกร ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ฯ กสศ.
ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า ทุกภาคส่วนได้พยายามบริหารจัดการปัญหาการศึกษานี้อย่างต่อเนื่องจนมีผลลัพธ์ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาหลายด้านได้อย่างโดดเด่น การทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนเปราะบางจนเกิดเครือข่ายการทำงานที่เข้าใจบริบทของพื้นที่ เกิดแนวทางพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สนับสนุนให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อประกอบอาชีพตามความถนัด เสริมสร้างศักยภาพ ให้สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต ให้มีโอกาสเรียนหนังสือผ่านการศึกษาทางเลือกและการเรียนรู้วิชาชีพที่ถนัด “ความตั้งใจในภารกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเป็นงานที่ท้าทาย และต้องการมุมมองและแนวคิดที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ซึ่งได้มาจากการทำงานและลงมือปฏิบัติจริงจนมองเห็นประเด็นและแนวทางที่พื้นที่และชุมชนต่าง ๆ กำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่เมืองใหญ่ในภาคกลาง ซึ่งมีรูปแบบปัญหาที่หลากหลายและยังต้องการพลังและแนวทางจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาอีกมากมาย โดยเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอที่จะได้รับฟังจากทุกฝ่ายจะสามารถสร้างแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาที่จะสร้างจุดเปลี่ยนและกลายเป็นคานงัดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่จะได้เห็นในอนาคต”
จากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวทางคณะได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ “สายพานอาชีพ ก.กก บึงกาฬ และฐานเรียนรู้ภาคีเครือข่ายพื้นที่ มีภาคเครือข่ายทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดบึงกาฬ เพื่อเสนอผลงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ท้องถิ่น ผ่านการสาธิตเวิร์คชอป การย้อมคราม มัดย้อมผ้า จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์บึงกาฬ ชมการสาธิตทอกกและผือจาก ก.กก บึงกาฬ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เสื่อสีธรรมชาติ หมวก กล่องทิชชู แจกัน และกระเป๋าหลากหลายดีไซน์ที่ถูกถักทอขึ้นจาก “กกและผือ” ด้วยฝีมือของผู้ด้อยโอกาส ไม่เพียงเป็นผลความสำเร็จที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่คณะทำงาน แต่องค์ความรู้ที่ถูกส่งต่อไปยังชุมชนจนต่อยอดเป็นอาชีพได้ยังเป็นการ “สานฝัน” ชาวบ้านเป็นสะพานที่ต่อยอดความคิดและความฝันของชาวบ้านไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยมีศูนย์การเรียนรู้เป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาที่คอยช่วยเหลือดูแลชาวบ้านต่อไป
นางพร้อม อืดผาอายุ 65 ปี 1 ในสมาชิก ก.กก เล่าว่า แต่ก่อนมีรายได้จากรัฐบาลให้มาคือเงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่เข้ามาร่วมกลุ่ม ก.กก เข้ามาเรียนรู้และต่อยอดกับครูรัศมีก็รู้สึกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตเสื่อกกและผือ โดยขายเสือได้ผืนละ 200 บาท ส่งไปขายตามห้างร้านในต่างจังหวัด และทางกลุ่มได้ซื้อไปต่อยอดทำเป็นกระเป๋าถือชนิดต่างๆ บ้าง นำไปทำหมวก ทำที่รองจาน บ้าง รายได้จากการขายเสื่อซึ่งถือว่าเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นได้เดือนละประมาณ 40,000 บาท สมาชิกในกลุ่มใครทำได้มากก็จะมีรายได้มากขึ้น เป็นเงาตามตัวก็รู้สึกดีใจที่มีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งแรกๆ แม่ทำคนเดียวก็เหนื่อย ต่อมาก็มีลูกเข้ามาช่วย แล้วก็ช่วยกันทำก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย