การที่เมืองใดเมืองหนึ่งของประเทศไทย ติดอันดับโลกด้านฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากทุกภาคส่วน จากคนทุกคนที่ร่วมหายใจบนแผ่นดินนี้ ในส่วนของภาครัฐมีความพยายามในการออกกฎหมาย การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระดมความช่วยเหลือด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ตลอดจนการรณรงค์กิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้ลดปัญหาฝุ่นควัน เช่น การรณรงค์ใช้รถไฟฟ้า แทนน้ำมัน เป็นต้น
ห่วงโซ่การผลิตอาหาร เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนในการสนับสนุนให้เกิด PM2.5 และก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่สามารถแสดงความรับผิดชอบออกมาได้อย่างชัดเจน พร้อมลงมือแก้ไขทันทีในส่วนที่ตนจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีส่วนในการ “รับซื้อ” พืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งเพื่อช่วยให้โลกลดปริมาณฝุ่น และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้าในสหภาพยุโรป ที่ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ากระบวนการผลิตอาหารของประเทศไทยนั้นไม่ก่อมลพิษ
มาตรการนี้มี “ผู้ประกอบการรายใหญ่” ของไทย ดำเนินโครงการจัดหาข้าวโพดยั่งยืนมาหลายปีแล้ว สามารถทำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด (corn traceability) ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นตัวอย่างให้อีกหลายบริษัทเดินตาม ซึ่งมีวิธีดำเนินการที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ในฐานะผู้รับซื้อ ภาคเอกชนดังกล่าว ทำการตั้งกติกาการรับซื้อให้ ผู้ขายเมล็ดข้าวโพด แสดงเอกสารสิทธิ์ของที่ดินที่ปลูก เพื่อยืนยันว่าเป็นข้าวโพดจากที่ดินที่ไม่รุกป่า และจูงใจด้วยราคารับซื้อที่สูงกว่าข้าวโพดทั่วไป รวมถึง ปฎิเสธ การรับซื้อข้าวโพดทุกเมล็ดที่ไม่มีเอกสารสิทธิแสดง
2.สร้างแอพพลิเคชั่น For Farm ให้เกษตรกรยืนยันตัวตนและแปลงปลูก โดยมีข้อมูลความรู้ที่จะสนับสนุนประสิทธิผลการปลูกข้าวโพดให้เกษตรกรด้วย เช่น ปริมาณน้ำฝน ราคารับซื้อ ขณะเดียวกันก็จัดทีมลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ถึงการปลูกข้าวโพดโดยไม่มีการเผาแปลงนั้น สามารถเพิ่มผลผลิตได้ขนาดไหน บนปัจจัยใดบ้าง เป็นการปลูกข้าวโพดแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างรายได้มั่นคงให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
3.ใช้ “เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม” โดยดึงจุด Hotspot จาก NASA-FIRMS สำหรับตรวจสอบจุดความร้อน หากพบจุดความร้อนในแปลงปลูกที่ลงทะเบียนไว้ จะมีมาตรการตักเตือน ซึ่งหากทำซ้ำจะถูกตัดออกจากรายชื่อเกษตรกรที่จะสามารถขายเมล็ดข้าวโพดให้บริษัทได้เป็นเวลา 1 ปี
4.เมื่อถึงขั้นตอนการรับซื้อ จะเชื่อมโยงทุกการซื้อขายเข้าสู่เทคโนโลยีบล็อกเชน รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่แปลงเพาะปลูก ผ่านการขนส่งจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อความโปร่งใส
ข้อดีอีกข้อที่จะช่วยสังคมลดมลพิษ PM2.5 ได้คือ การที่แอพพลิเคชั่น For Farm สามารถใช้เป็นแหล่งแจ้งเบาะแสการเผาแปลง โดยผู้พบการเผาสามารถถ่ายรูปเป็นหลักฐาน พร้อมแจ้งข้อมูลและระบุตำแหน่งจีพีเอสของแปลงที่เผา ผ่านทางแอพพลิเคชั่น หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นแปลงของเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับบริษัทไว้ก็จะดำเนินการตักเตือนตามขั้นตอน แต่หากพบว่าเป็นแปลงของผู้อื่นก็จะประสานงานไปยังหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องนี้ นับเป็นอีกข้อดีในการช่วยสังคมสอดส่องดูแลเพื่อลดปัญหา PM2.5 ได้อีกทางหนึ่ง
เท่านี้ก็มั่นใจได้ว่าข้าวโพดที่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวใช้ ไม่ได้ปลูกในพื้นที่ที่รุกป่าหรือเผาแปลง นับเป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจที่จะช่วยให้ประเทศไทยลดการเผาแปลงเกษตรในที่โล่ง มาตรการนี้ยังขยายผลไปใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจัดหาข้าวโพดที่ตรวจสอบย้อนกลับได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การเผาแปลงในที่โล่ง ยังเกิดขึ้นอยู่ในพืชชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น นาข้าว ไร่อ้อย ซึ่งต้องรอดูผู้เกี่ยวข้อง แสดงความรับผิดชอบออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้บ้าง ต้องหันมาช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างจริงจัง เพื่อช่วยกันลดปัญหา PM2.5 ที่น่ากลัวมากขึ้นทุกวัน
โดย : สมรรถพล ยุทธพิชัย