วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุมพระพรหมคุณาภรณ์ อนุสรณ์ 108 ชาตกาล ที่วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร (วัดกลางนครโคราช) อ.เมือง จ.นครราชสีมา พระอาจารย์มหาต่อ ธรรมรังสี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์ พร้อมพลเอกสนธยา ศรีเจริญ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะที่ปรึกษาวัดพระนารายณ์มหาราช นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รอง ผวจ.นครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.นครราชสีมา สนง.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมาและภาคเอกชน ประชุมเตรียมการจัดงานแห่พระลอดซุ้มประตูเมือง “มหาสงกรานต์โคราช” ระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน นี้
โดย นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเลขานุการการจัดกิจกรรมมหาสงกรานต์โคราช เปิดเผยว่า “พระคันธารราษฎร์” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดพระนารายณ์ สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 ขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระยานครราชเสนี เจ้าเมืองนครราชสีมา ในขณะนั้น ได้จัดพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราช จัดต่อเนื่องถึงปี 2522 พิธีกรรมได้หยุดไป กระทั่งปี 2559 วัดพระนารายณ์ฯ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ปิดทองพระทศพลญาณประทานบารมีหรือหลวงพ่อใหญ่และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงได้รื้อฟื้นพิธีดังกล่าว ซึ่งการลอดประตูชุมพล ถือเป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราชและความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ พระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์ เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงมีชื่อเรียกอีกคือ “พระขอฝน”
ทั้งนี้ช่วงเย็นของวันที่ 12 เม.ย ทุกภาคส่วนจัดริ้วขบวนแห่อัญเชิญพระคันธารราฐจากวัดพระนารายณ์มาประดิษฐานชั่วคราว ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เพื่อจัดพิธีสมโภชพระคันธารราฐ ให้นักท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณีและกราบสักการะ สรงน้ำขอพร เขียนคำอธิษฐานบนผ้าทองผ้าเงิน เสริมสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวรวมทั้งพิธีสวดมนต์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย วันที่ 13 เม.ย วันสงกรานต์ ช่วงเย็นแห่อัญเชิญพระคันธารราฐลอดซุ้มประตูชุมพลพร้อมแห่ผ้าทอง ผ้าเงินความยาว 556 เมตร เท่ากับอายุของเมืองโคราช โดยมีนักท่องเที่ยวเรือนหมื่นจับชายผ้าร่วมแห่กลับวิหารหลวงวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร