วันที่ 5 เม.ย.67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 โดยมี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข , พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ,พล.ต.ท.สำราญ นวลมา, พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ , พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. และข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดงานเทศกาลเย็นทั่วหล้า “มหาสงกรานต์ 2567” Maha Songkran World Water Festival 2024 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567 นอกจากนี้ ได้กำหนดให้วันที่ 12-16 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติคาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวหรือสถานที่จัดงานมหาสงกรานต์ทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพื้นที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ และระดมกวาดล้างอาชญากรรมทุกประเภท ทั้งอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 1-10 เมษายน 2567 และจัดทำ “โครงการร่วมใจ ยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ (ฝากบ้าน 4.0)” ระหว่างวันที่ 11-21 เมษายน 2567 รวมระยะเวลา 11 วัน โดยให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน “OBS” หรือที่สถานีตำรวจ และให้หน่วยดำเนินการคืนบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เรียบร้อยภายในวันที่ 22 เมษายน 2567
มาตรการป้องกันเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กำหนดแผนเผชิญเหตุ หรือมาตรการในการป้องกันการฉวยโอกาสของผู้ไม่หวังดีหรือผู้เสียผลประโยชน์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจรักษาความปลอดภัยสถานที่เชิงสัญลักษณ์ สถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม และสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ทุกมิติ และให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ และกองบินตำรวจ จัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ ให้สามารถสนับสนุนการปฏิบัติโดยเร็วที่สุดเมื่อเกิดเหตุ
มาตรการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร แบ่งเป็น ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 4-10 เมษายน 2567 , ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2567 ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางหลวง เตรียมความพร้อมกำลังพล สำรวจ ปรับปรุงเครื่องหมายจราจร ประสานขอคืนพื้นที่จุดซ่อมแซมผิวถนนให้มากที่สุด รวมทั้งสำรวจเส้นทางสำรอง ทางเลี่ยง ทางลัด จัดทำข้อมูลเส้นทางประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน จัดกำลังอำนวยความสะดวกในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น พิจารณาเส้นทางที่จะกำหนดเป็นเส้นทางเดินรถพิเศษ (Reversible Lane) โดยเปิดช่องทางพิเศษขาออก 9 สาย 10 จังหวัด รวมระยะทาง 219 กิโลเมตร ส่วนขากลับเปิดช่องทางพิเศษ 9 สาย 14 จังหวัด รวมระยะทาง 238 กิโลเมตร รวมทั้งกำหนดเส้นทางที่ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และกำชับตำรวจทางหลวงและตำรวจท้องที่จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อลงไปแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนหากเกิดอุบัติเหตุหรือต้องการความช่วยเหลือ อย่างรวดเร็วทันท่วงที
นอกจากนี้ ได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุทางถนนตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กรณีห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่กฎหมายกำหนด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ รวมทั้งกรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรที่มีคู่กรณี หรือมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย และดำเนินคดีให้ครบทุกข้อหา ส่วนผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ให้ขยายผลถึงผู้จำหน่าย ผู้ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร
มาตรการประชาสัมพันธ์ ให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งโฆษกทุกหน่วย และกองสารนิเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร แจ้งเตือน และขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม การประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์เส้นทางในการเดินทางให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สวพ.91 , จส100 ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไปยังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางมาตรการดูแลพี่น้องประชาชนในช่วงเทศการสงกรานต์ทุกมิติอย่างเต็มที่ ร่วมทั้งการดูแลความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้มีการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ สามารถใช้หมายเลขสายด่วน 191 หรือสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง