สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
ที่ขนานนามว่า พิมพ์ฐานคู่ ก็เพราะมีลักษณะเด่นตรงฐานชั้นที่ 1 ที่จะเป็นแท่งตรงและใหญ่ ตรงกลางฐานมีลักษณะเว้าลึก จนดูเหมือนเป็นเส้นฐานคู่กัน พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ จะมีพิมพ์ด้านหน้าจะมีพิมพ์เดียวเท่านั้น ส่วนพิมพ์ด้านหลังมี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังเรียบ และ พิมพ์หลังสังขยา
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่
- ขอบแม่พิมพ์ทั้ง 4 ด้าน จะเป็นขอบนูน และปรากฏรอยครูดของการยกขึ้นในลักษณะเนื้อปลิ้นขึ้นด้านหน้า
- เส้นซุ้มครอบแก้วมีลักษณะเรียวเล็กและคมชัดมาก
- พระเกศเรียวยาวจรดซุ้มครอบแก้ว
- พระพักตร์เป็นรูปไข่ผ่าซีก แต่ค่อนข้างเล็ก
- พระกรรณเป็นเส้นตรง คมชัด พระกรรณด้านขวาจะอยู่ต่ำกว่าด้านซ้ายและยาวจรดพระอังสา (บ่า)
- เส้นจีวรเป็นร่องลึกตรงกลาง เรียกว่า “อกร่อง” และวิ่งไปชนพระอุระทั้งสองข้างในลักษณะม้วนเข้าหากัน
- พระเพลา (หน้าตัก) เป็นเส้นตรง
- เส้นแซมใต้พระเพลาด้านซ้ายมือขององค์พระมีลักษณะเรียวยาวเกินพระชานุ (หัวเข่า)
- เส้นฐานชั้นที่ 3 กับเส้นแซมใต้ฐานจะชิดมากกว่าเส้นอื่นๆ
- เส้นแซมใต้ฐานชั้นที่ 3 ด้านซ้ายขององค์พระจะสั้นกว่าเส้นอื่นๆ
- ฐานชั้นที่ 1 ที่จะเป็นแท่งตรงและใหญ่ ตรงกลางฐานมีลักษณะเว้าลึก จนดูเหมือนเป็นเส้นฐานคู่กัน อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์
สำหรับศิลปะแม่พิมพ์ด้านหลังของสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ จะมีด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังเรียบ และ พิมพ์หลังสังขยา ด้วยข้อสังเกตดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็พอจะเป็นหลักเบื้องต้นในการแยกแยะและพิจารณาพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่ง ครับผม