ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
วัยรุ่นคือช่วงที่ต้องการ “แสง” เพื่อแสดงความเป็นตัวตน ผู้ใหญ่ควรเข้าใจและส่งเสริมให้เหมาะสม
“ริน – ภัสรินทร์” พูดถึงบรรยากาศในโรงเรียนมัธยมว่า “ค่อนข้างอึดอัด” ครูส่วนมากก็มีอายุค่อนข้างมาก หลายคนแก่กว่าพ่อแม่ของนักเรียนเสียอีก ยิ่งมาทำท่าควบคุมสั่งสอน “ยิ่งกว่าพ่อแม่” ก็ยิ่งอึดอัด นักเรียนทุกคนไม่กล้าแสดงออกในเชิงต่อต้าน ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเรียนไปท่องไปเพื่อสอบให้ได้คะแนนดี ๆ ที่สำคัญต้องทำตัวดี ๆ ให้อยู่ในระเบียบต่าง ๆ ของโรงเรียน ดังนั้นในเวลาเรียนจึงเป็นเวลาที่เหมือนว่านักเรียนทุกคนกำลัง “ตกนรก” และนอกเวลาเรียนหรือช่วงที่ออกมาพ้นรั้วโรงเรียนแล้วก็จะเหมือน “ขึ้นสวรรค์” ชีวิตมันจึง “สุดขั้ว” หรือแสดงออกไปสุด ๆ ในแต่ละด้าน คือต้อง “เครียดเกร็ง” ในเวลาเรียน และ “โล่งสบาย” เมื่อพ้นออกมา
พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่รู้หร็อกว่าวัน ๆ ลูก ๆ หรือเด็กในปกครองของตัวเองทำอะไรบ้าง แม้ถามก็จะได้รับคำตอบที่โกหกแทบทั้งสิ้น เว้นแต่จะไปเฝ้าดูหรือคอยสอบถามพร้อมกับตรวจสอบตารางเรียนอย่างละเอียด ในแต่ละสัปดาห์แต่ละวันนั้นไม่ได้เรียนเต็มคาบทุกวัน มีช่วงว่างและบางทีก็ว่างไปทั้งวัน ถ้าเกิดครูมีการเลื่อนหรือรวบการสอน ทำให้นักเรียนมีเวลาว่าง ๆ อยู่พอสมควร โดยเฉพาะในวันที่มีเวลาตั้งแต่ครึ่งวันและเต็มวัน ซึ่งนักเรียนบางคนก็จะนัดรวมกลุ่มกันไปทำ “กิจกรรมนอกโรงเรียน”
“กิจกรรมนอกโรงเรียน” ที่นักเรียนสาว ๆ ส่วนใหญ่ทำกันก็คือ “ไปห้าง” หรือ “เดินช้อป” คือเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า ถ้ามีเงินหน่อยก็จะหาขนมหรืออาหารอร่อย ๆ รับประทาน รวมถึงดูหนังและเข้าห้องเกม เล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเกมเต้นรำมัน ๆ และร้องคาราโอเกะ พอได้เวลาสักบ่ายสามโมงที่โรงเรียนเลิกก็แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ก็มีบ้างที่จัดกลุ่มกันไป “เม้าท์” หรือหาสถานที่พูดคุยกันต่อ เช่น ร้านขายขนมและเครื่องดื่มแบบ “ลับเฉพาะ” คือมีมุมนั่งสำหรับนักเรียนที่ออกมามีกิจกรรมระหว่างรอกลับบ้านนั้น อย่างร้านขนม “บ้านพี่” ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน โดยเป็นบ้านของรุ่นพี่ในโรงเรียนที่ยินดีต้อนรับน้อง ๆ ให้มานั่งคุยและอุดหนุนขนมกับเครื่องดื่มไปด้วย ซึ่งบางทีก็มีเพื่อนของรุ่นพี่นั่นเองที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมาร่วม “พูดคุย” ด้วย และถ้าจะเกินเลยเวลาไปจนมืดค่ำ ก็แค่โทรไปบอกทางบ้านว่ามาติวกับรุ่นพี่ ซึ่งรุนพี่ก็รับรองให้กับทางบ้านด้วยความกระตือรือร้น
เรื่องที่ “พี่ ๆ” มาคุยให้รินกับเพื่อน ๆ ฟังก็คือ “ชีวิตในมหาวิทยาลัย” ที่เต็มไปด้วย “อิสรเสรี” แบบตรงกันข้ามกับชีวิตในโรงเรียนมัธยม การโต้เถียงกับอาจารย์ได้อย่างสบายใจทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งในเรื่องวิชาการและ “สัพเพเหระ” โดยอาจารย์หลายคนก็ค่อนข้างจะเป็นกันเองกับนักศึกษา บางคนก็เป็น “ไอดอล” ให้กับนักศึกษา ทั้งในเรื่องการแต่งตัวและการใช้ชีวิต อาจารย์กลุ่มนี้ล้วนแต่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกมาจากต่างประเทศ มีอายุไม่ห่างจากนักศึกษาเท่าใดนัก อาจารย์หนุ่มสาวเหล่านี้นี่เองที่ “ส่องทาง” หรือเป็นต้นแบบต่าง ๆ ให้กับนิสิตนักศึกษาทั้งหลาย
กลุ่มของรินมีการตั้งไลน์และเฟสบุ๊คอยู่แล้ว พอพวกรุ่นพี่มาขอให้เข้ากลุ่มเพื่อคุยกับอาจารย์และรุ่นพี่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ก็ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ คึกคักขึ้นมาทันที มีการ “เม้าท์การเมือง” เป็นกิจกรรมที่ทุกคนชื่นชอบ เพราะได้ “แตะต้อง” กับคนที่มีหน้าตาในระดับชาติ ยิ่งการแสดงความคิดเห็นที่เข้าไปในกลุ่มได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ ในกลุ่ม ก็ยิ่งทำให้รู้ว่าตัวเรานี้มีความสำคัญ บ่อยครั้งที่พวกของรินก็ได้ “ตั้งประเด็น” ล้อเลียนเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับนักการเมืองเหล่านั้น และยังได้วกเข้าไปในโรงเรียนเพื่อล้อเลียนบรรดาพวกครู ๆ หรือเพื่อน ๆ กลุ่มอื่น ๆ ที่ยัง “ล้าหลัง” เพราะเอาแต่เรียนและเชื่อฟังครูอยู่ตลอดเวลานั้นด้วย
รินมาคิดในภายหลังที่จบออกมาจากโรงเรียนได้ว่า การควบคุมนักเรียนอย่างเข้มงวดเพื่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของโรงเรียนนั้น เป็นความผิดพลาดมัวเมาของผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นกันทุกโรงเรียน เหมือนอย่างที่พวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในกลุ่มของพวกรินเรียกว่า “จารีตบอด” ที่ทำกันอยู่ทั่วประเทศ จารีตก็คือการกระทำแบบโบราณคร่ำครึ ที่เอาแต่ “สอนและสั่ง” ด้วยความตาบอดคือมองไม่เห็นความต้องการของนักเรียน เพราะเอาแต่ความต้องการของผู้ใหญ่นั้นเป็นที่ตั้ง และการกระทำแบบนี้ก็เกิดขึ้นในทางการเมืองด้วย คือพวกผู้ใหญ่คนที่มีอำนาจมองไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าเป็นนักการเมืองก็มองว่าประชาชนซื้อเสียงเอาได้ หรือถ้าเป็นข้าราชการก็จะคิดแต่จะใช้กฎหมายรังแกประชาชน
รินเชื่อว่าถ้าผู้ใหญ่ยอมรับความคิดเห็นและรับฟังเด็ก ๆ บ้าง น่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ ผู้ใหญ่เอาแต่สั่งสอนเด็ก ๆ ว่าให้เป็นเด็กดี แต่ผู้ใหญ่นั่นเองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ๆ แล้วหรือ เธอเปรียบเทียบพ่อแม่ ครูๆ และผู้ใหญ่ต่าง ๆ กับรุ่นพี่ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์คนหนุ่มสาวที่มีอายุใกล้เคียงกับพวกเธอ คนเหล่านี้เข้าใจพวกเธอดีมาก ๆ คงเพราะมีอายุไม่ห่างกัน จึงรู้ใจวัยรุ่นอย่างพวกเธอนี้เป็นอย่างดี อย่างที่เรียกว่า “คุยภาษาเดียวกัน” ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่นั่นแหละที่ไม่ยอมปรับตัวเข้าหาเด็ก เพราะกลัวเด็กลามปาม หรือ “ถอนหงอก” ไม่แสดงความเคารพนับถือ ยิ่งทำให้โลกของเด็กกับโลกของผู้ใหญ่ถอยห่างออกจากกันไปเรื่อย ๆ
แต่เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ เรื่องที่ผู้ใหญ่บอกว่าเด็ก ๆ มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป อย่าไปยุ่งเรื่องของผู้ใหญ่ อย่างเรื่องการเมืองนั้นควรเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ไปยุ่งจะทำให้เสียเรื่อง เข้าทำนอง “คบเด็กสร้างบ้าน” คือมีแต่จะทำให้ยุ่งเหยิง แม้แต่ในตอนที่เธออยู่ในชั้นมัธยมปลาย อีกปีสองปีก็จะต้องไปเลือกตั้ง เพราะมีอายุ 18 ปีตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิไปเลือกตั้งได้ การเมืองก็เป็นอีกโลกหนึ่งของทุกคนที่จะต้องเผชิญ เหมือนกับที่ทุกคนต้องหางานทำ ต้องมีอาชีพ ต้องมีครอบครัว และมีภาระต่าง ๆ ต่อสังคม เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเมืองได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่เอาแต่ห้ามปรามกีดกัน ก็เท่ากับทำให้เด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของบ้านเมืองถูก “ปิดกั้น” ถูกทำให้โง่หรือเป็นพลเมืองที่ไม่มีคุณภาพทางการเมือง ประเทศไทยจึงยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที
ประเด็น “ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที” เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันมากเมื่อเธอเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ที่แตกต่างจากโลกที่เธอเคยผ่านมาในโรงเรียนก็คือ ในมหาวิทยาลัยมีการเปิดกว้างเป็นอย่างมากที่จะพูดคุยและมีกิจกรรมทางการเมือง เธอได้พบกับนักการเมือง “ตัวเป็น ๆ” ที่มาเยี่ยมเยียนเพื่อหาเสียง รวมถึงที่เชิญชวนพวกเธอให้เข้าไปเป็น “ด้อม” หรือแฟนคลับ ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคนอื่น นับร้อยนับพันนั้นได้ ความหลากหลายจากการที่ได้พบกับผู้คนจำนวนมากทั้งในโลกจริงและเสมือนจริง ทำให้เธอรู้สึกว่าคนตัวเล็ก ๆ เด็ก ๆ ที่อายุน้อย ๆ อย่างเธอ ก็สามารถที่จะเข้าไปพบกับคนที่ยิ่งใหญ่ อย่างที่เรียกว่า “คนของประชาชน” นั้นได้ไม่ยาก ที่สำคัญคนอย่างพวกเธอถ้ามุ่งมั่นพยายามต่อไป ก็อาจจะเติบใหญ่เป็นคนในระดับ “คนสำคัญของชาติ” นั้นได้เช่นกัน
คนที่มีความฝันแม้จะเป็นความฝันแบบเด็ก ๆ ก็ยังดีเสียกว่า คนที่คิดว่าจะฝันไปทำไมถ้าฝันนั้นเป็นไปไม่ได้ นั่นคือความแตกต่างระหว่าง “เด็ก” กับ “ผู้ใหญ่”