ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ความเชื่อใจ..เป็นอุบัติการณ์อันล้ำค่าของชีวิต..เป็นสิ่งที่วิจิตรบรรจงต่อการขับเคลื่อนจิตวิญญาณของโลก..เพราะผู้คนของโลกสูญสิ้นความเชื่อใจระหว่างกัน..มันจึงบังเกิดวิกฤตแห่งการดำรงอยู่ร่วมกันในร่มเงาแห่งมิตรไมตรีอันบริสุทธิ์..ความระแวงสงสัย..ความหวาดวิตกในการคบหา..ค่อยๆบั่นทอนสัมพันธภาพจนกลายเป็นสิ่งไร้ค่า..ที่สุดแล้วก็จะไม่เหลือสิ่งใด..ไว้เพื่อพิสูจน์..ความจริงใจของใครหรือเจตนาใดได้เลย..แม้เมื่อใด..”
ผมถือเอาสัจจะส่วนนี้..เป็นนัยความคิดหลักที่ได้จากหนังสืออันกระทบใจเล่มหนึ่ง..หนังสือที่ชวนให้เราได้ใคร่ครวญถึงจิตปัญญาที่ก่อเกิดสรรพสิ่งแห่งสำนึกคิด..
“เชื่อใจ” (Trust)...ประพันธกรรมชิ้นสำคัญของปรมาจารย์ “OSHO”.. ที่เปรียบดั่งเป็นกุญแจดอกสำคัญ...ที่ชีวิตของเราจะใช้ไขประตูสู่อิสรภาพอันแท้จริง..และยังเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต..
ว่ากันว่า..ในยุคสมัยที่ความเชื่อใจได้เลือนหายไปจากสังคม และแม้แต่ตัวตนของเรา..จนกระทั่งก่อเกิดเป็นความไร้ระเบียบมากมายในสภาวะแห่งความเป็นสังคมทุกพื้นที่ชีวิต..
“OSHO”..ได้ยกย่องให้ความเชื่อใจ..เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต..โดยเขาระบุนิยามของคำ คำนี้แตกจากออกไปจากคนอื่นๆที่เคยให้ไว้..โชเน้นย้ำว่า.. “ความเชื่อใจ..ไม่อาจให้คำนิยามได้..จนกว่าผู้ที่เข้าถึงภาวะนี้ จะเข้าใจมันได้ด้วยตนเอง..และเมื่อนั้น “ความเชื่อใจ” ก็จะกลายเป็นกุญแจไขความเข้าใจในทุกสรรพสิ่ง..ดังที่ว่าไว้.. “โดยที่ไม่ต้องพยายามหาคำตอบหรือเหตุผลที่มาที่ไป...มันจึงคือหนังสือ..ที่ถือว่ามีความพิเศษในตัวของมันเอง โดยผู้อ่านจะสามารถให้คำนิยามที่แตกต่างกันไป..อีกทั้ง ยังมีจุดเริ่มต้น..มีเส้นทางการเดินทางที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ ...
แต่ในท้ายที่สุดแล้ว พวกเราทุกคนจะสามารถมุ่งไปสู่ปลายทางเดียวกันได้.. ต่อคำถามที่เป็นบริบทของหนังสือเล่มนี้..หัวใจของเจตจำนงอยู่ที่การค้นหา..ว่า..ความเชื่อใจคืออะไร?/มีค่าหรือไร้ค่าเช่นไร?/ไม่ปลอดภัยหรือมีหลักประกันในลักษณะไหน?/รวมทั้ง..มีสภาวะแห่งการดำรงอยู่ที่จะดูแลทุกสิ่งเช่นไร?/..คำตอบเหมือนจะปรากฏออกมาเช่นนี้..ว่า.. “แท้จริง..สังคมได้ทำลายความเชื่อใจแบบถอนรากถอนโคน..สังคมไม่ยินยอมให้เราเชื่อใจตนเอง..สังคมสอนให้เราเชื่อใจในรูปแบบอื่นๆ..ดั่งเช่น..เชื่อใจในพ่อแม่ เชื่อใจในศาสนจักร เชื่อใจในรัฐ เชื่อใจในพระเจ้า..เชื่อใจในความเป็นนิรันดร์..แต่ความเชื่อใจในพื้นฐานนั้น กลับถูกทำลายโดยสิ้นเชิง..
ความเชื่อใจอื่นๆทั้งหมดนั้นก็เป็นของปลอม..มันเป็นของปลอม..ความเชื่อใจอย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นแค่ดอกไม้พลาสติก..เราไม่มีรากอันแท้จริงที่จะให้ดอกไม้จริงได้เติบโต..เราจะมีความเชื่อได้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อใจตัวเราเองเป็นอันดับแรก..
สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องเกิดกับเราก่อน..ถ้าเราเชื่อใจในตนเองแล้ว..เราก็สามารถเชื่อใจในผู้คนได้..เราจักสามารถเชื่อใจในการดำรงอยู่ได้..แต่หากท่านไม่เชื่อใจในตนเองเสียแล้ว..ก็จะไม่มีความเชื่อใจอื่นใด..ที่จะเป็นไปได้อีก..
ในวิถีคิดของ “OSHO”..เขาได้พินิจพิเคราะห์ว่า .ชีวิตของมนุษย์เราล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วเหตุใดเล่า..เราจึงไม่กล้าไว้ใจในความเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตที่เกิดขึ้นได้..เหตุใดเราจึงต้องพยายามดึงรั้งให้สิ่งต่างๆ เป็นให้ได้ดั่งใจเรา..
ทั้งนี้ก็เพราะ..ถ้าเมื่อเมฆไม่เปลี่ยนแปรบนท้องฟ้า..ภาวะธรรมชาติก็คงน่าเบื่อ หรือก็คงปราศจากสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ..เราคงไม่มีเมฆก้อนเล็กที่รวมตัวกันเป็นเมฆก้อนใหญ่ ...แล้วค่อยๆกลายเป็นเมฆฝนหรือสายลม..ที่ทำให้ธรรมชาติทั้งมวลดำรงอยู่แบบที่มันเป็นในทุกวันนี้..
สิ่งสำคัญ ณ ที่นี้ก็คือว่า.. “ความในใจของ “OSHO”..หาใช่สิ่งเดียวกับความนิ่งเฉย..”
ประเด็นนี้..เขาได้เล่าผ่านนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า.. “จงเชื่อในพระเจ้า แต่จงล่ามอูฐของเจ้าไว้ก่อน..เพราะพระเจ้าไม่มีมือเหมือนเจ้า”
นิทานเรื่องนี้ เป็นเรื่องของชายคนหนึ่ง เดินทางไกลจนมาถึงโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง..ก่อนเข้าไปในโรงเตี๊ยม เขาได้สวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า ..ให้ช่วยดูแลอูฐของเขาไม่ให้หายไป..ครั้นเมื่อเขาเข้าไปหาอาหารและน้ำดื่มกินในโรงเตี๊ยม..แล้วเสร็จ..เขาก็กลับออกมาพบว่าอูฐของเขาหายไปเสียแล้วอย่างไร้ร่องรอย....เขาร้องไห้เสียใจออกมาอย่างหนัก..เขาคร่ำครวญว่าเขาอุตส่าห์วางใจและเชื่อใจในพระเจ้า..แต่พระเจ้ากลับทันใดนั้น..ก็ได้มีชายคนหนึ่งได้เอ่ยเตือนสติเขาว่า..*เจ้าขอพระเจ้าได้..แต่พระเจ้าไม่มีมือเหมือนเจ้า..ดังนั้นเจ้าต้องล่ามอูฐไว้ด้วยตัวเอง..แล้วพรที่เจ้าขอจะเป็นจริง*
นิทานเรื่องนี้มุ่งสอนต่อใจของเรา..ให้ได้รู้ถึงแก่นแท้ของชีวิต..ชีวิตของเรามีสิ่งอยู่สองสิ่งที่สำคัญ นั่นก็คือ.. “อะไรก็ตามที่เราทำได้” กับ “อะไรก็ตามที่เราทำไม่ได้” /เราจึงสมควรทำสิ่งที่ทำได้ให้เต็มที่..ส่วนสิ่งที่ทำไม่ได้ก็จงปล่อยวาง..ปล่อยไป “และเชื่อใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้เต็มที่”
“ความเชื่อใจ ในแบบของ” ..OSHO “คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ณ วินาทีนี้ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว” ความสุขที่แท้จริง คือการมีความสุข ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้..และ อยู่กับช่วงเสี้ยววินาทีที่เป็นปัจจุบัน ให้มากที่สุด...
ครั้นมาถึง ณ ปัจจุบัน..มันดูเหมือนว่า..มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลก ต่างกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตอันยากจะปฏิเสธได้..คำถามแทงใจที่เกิดขึ้นก็คือว่า..เราจะยอมเปลี่ยนตัวเราเอง หรือจะยอมปล่อยให้กระแสบ้าคลั่งในโลกนี้ดำเนินต่อไป..
“OSHO” ได้บรรยายภาวะวิกฤตนี้ต่อเราทุกๆคนอย่างน่าสนใจและชัดเจนว่า มนุษย์ต่างตกอยู่ในภาวะวิกฤติเสมอ.. “มนุษย์คือภาวะวิกฤติ”..เพราะตลอดเวลามันไม่ใช่ความบังเอิญ แต่มันเป็นปัจจัยพื้นฐาน แก่นแห่งชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยภาพประกอบด้วยภาวะวิกฤต..
ดังนั้น..มนุษย์เราจึงต้องมีความวิตกกังวล ความเครียด ความทุกข์ทรมานการเปลี่ยนแปลง.. มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่มีความเติบโต มีความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลง .. “OSHO”..ได้บรรยายภาวะวิกฤตของมนุษย์เราได้อย่างชัดเจน..โดยเฉพาะกับประเด็นที่ว่า.. “มนษย์ตกอยู่ในภาวะวิกฤติเสมอ..มนุษย์คือภาวะวิกฤติ”..ซึ่งก็บ่งชี้ถึงว่า..ตลอดเวลามันไม่ใช่ความบังเอิญ..แต่มันเป็นปัจจัยพื้นฐาน..เหตุนี้..แก่นแห่งชีวิตมนุษย์จึงประกอบด้วยภาวะวิกฤติ
ดังนั้น เราจึงต่างต้องมีความวิตกกังวล ความเครียด ความทุกข์ทรมาน..เนื่องเพราะ ..มนุษย์คือสัตว์โลกชนิดเดียวที่ไม่ได้เกิดมาอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ได้เกิดมาอย่างถูกจำกัด เหมือนอย่างสิ่งของสำเร็จรูป..แต่มนุษย์คือและเป็นกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลง.ต่อไป.มนุษย์คือโอกาสที่เปิดกว้าง..ชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยการก้าวสู่สิ่งใหม่..และนั่นคือ..ภาวะวิกฤติ..ยิ่งก้าวสู่สิ่งใหม่มากเท่าไหร่.. “ก็ยิ่งเป็นมนุษย์”
นอกจากนี้ “OSHO” ยังช่วยให้เราได้ไขเงื่อนไขสำคัญแห่งภาวะวิกฤติ..ต่อไปอีกว่า.. “ความไร้สำนึกดึงท่านกลับคืนสู่ความเป็นเดรัจฉาน ดึงให้ท่านต่ำลง ถดถอย..ส่วนจิตสำนึกพยายามฉุดท่านขึ้นสู่การมีสำนึกยิ่งขึ้น..เพราะการมีสำนึกได้ให้หลายสิ่งหลายอย่างแก่ท่าน..
จริงอยู่..มันทำให้ท่านวิตกกังวล เครียด ทุกข์ทรมาน แต่มันยังให้ ดนตรี บทกวี จิตรกรรม และมันยังให้เกียรติภูมิอันสูงสง่า..งดงาม..ที่ไม่มีสัตว์โลกชนิดใดได้รับ..ถือเป็นเกียรติภูมิแห่งการมีสติสำนัก”
ดังนั้นการดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติ..จึงคือหนทางสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้จริง..สู่แก่นแท้แห่งมนุษย์..สู่พระเจ้าภายใน..เราไม่สามารถตัดสินใจเลือกทิศทางใดได้..เราทำได้แค่เพียง ดำเนินชีวิตไปในชั่วขณะนี้..ซึ่งมีไว้เพื่อตัวเรา..
“ด้วยการดำรงอยู่กับชั่วขณะนี้”..ทิศทางจะเกิดขึ้นเอง..หากเมื่อใดที่เราออกท่าทาง..ลีลาร่ายรำ..ชั่วขณะต่อไป ก็จะมีการร่ายรำที่งดงามยิ่งขึ้น..ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเราตกลงใจให้เป็น..เราเพียงแค่ร่ายรำอยู่ในขณะนี้..ได้สร้างทิศทางขึ้นมา ไม่ได้บังคับกะเกณฑ์มัน..ชั่วขณะข้างหน้าจะยิ่งเป็นการร่ายรำที่เต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น..และจะยังเป็นเช่นนั่นเรื่อยไป..
ณ บทสรุป..แท้จริงแล้ว “ความเชื่อใจ”..ไม่ได้เกรงกลัวต่อความสงสัย..เพราะความเชื่อใจไม่ได้ต่อต้านหรือขัดขืนความสงสัย.. “ความเชื่อใจใช้งานความสงสัย” ความเชื่อใจ รู้วิธีใช้พลังงานที่บรรจุอยู่ในความสงสัยนั้นเอง
นั่นคือความแตกต่างระหว่างความศรัทธากับความเชื่อใจ/..ความศรัทธาเป็นของปลอม มันสร้างศาสนธรรมจอมปลอม “มันสร้างคนที่เสแสร้ง”
เเต่ความเชื่อใจนั้น..มีความงามและความจริงแท้อันสูงส่งเกี่ยวกับตัวมันเอง..มันเติบโตผ่านความสงสัย..มันใช้ความสงสัยเพื่อเป็นปุ๋ย..มันแปรรูปความสงสัย “ความสงสัย” นั้นคือมิตรไม่ใช่ศัตรู
“เชื่อใจ” (Trust) ถือเป็นหนังสืออันทรงคุณค่าอีกเล่มหนึ่งของ “OSHO” ปราชญ์ชาวอินเดีย/..ที่ปรากฏโฉมแห่งสาระออกมาในช่วงหลังนี้ นอกเหนือไปจาก.. “เด็ดเดี่ยว” (Courage )/ปัญญาญาณ(Intuition/ “เชาวน์ปัญญา” (Intelligence ) “เมตตาอาทร”(Compassion )ฯลฯ
หนังสือเล่มนี้..ทายท้าให้เราก้าวเข้าไปให้ถึงความเข้าใจในแก่นแห่งคำสอนที่เน้นย้ำว่า..มันเป็น “กุญแจแห่งความเข้าใจในสรรพสิ่ง..โดยที่ไม่ต้องพยายามหาเหตุผลใดๆ”
มันคือผลงานสร้างสรรค์ทางสำนึกคิดที่ตอกย้ำให้ผู้อ่าน..ได้ลองคิดทบทวนดูว่า..อะไรคือความเชื่อใจ?/เชื่อใจในสิ่งใด?/เชื่อใจในตนเองหรือผู้อื่น?/และ..ทำไมต้องเชื่อ?/ “ปรัชญา จุฬุวรรณ” ถอดความและแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างหนักแน่น..เนียนกริบด้วยปัญญาญาณอันสุกสว่าง..สะท้อนถึงการ “โอบกอดชีวิต และปล่อยให้ชีวิตเป็นไป” อย่างวางใจ...
ต่อคำถามที่ว่า..ณ ปัจจุบัน เราสามารถจะเชื่อใจตัวเองได้บ้างหรือยัง?.. หนังสือ “เชื่อใจ” เล่มนี้จะตอบคำถามแทนใจเราว่า.. “ความเชื่อใจ..ในความหมายที่ปรากฏ..อาจไม่ต่างอะไรกับการ “ซาโตริ” ของเซน/ไม่ต่างอะไรกับการตรัสรู้ในพุทธศาสนา/หรือ..ไม่ต่างอะไรกับการได้พบพระผู้เป็นเจ้าในทุกศาสนา../
ความเชื่อใจจึ่งคือ..บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจเรา..การเห็นตัวเองอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง..กระทั่งบังเกิดการยอมรับความจริง..จนนำไปสู่ “ความไว้วางใจ..อันเป็นที่สุด..”