น่าน เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีพื้นที่ที่มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความรุ่มรวยศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต
การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยาและแพร่) ณ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบดำเนินการตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการผลักดันให้จังหวัดน่านเป็นเมืองมรดกโลกคู่เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเชื่อมโยงทั้งสองเมืองเข้าด้วยกัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทย และเห็นชอบในหลักการโครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก
ในส่วนของโครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก มี 2 โครงการย่อยที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน (สวจ.น่าน) เสนอต่อครม. ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งหมด 7 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจประวัติศาสตร์มรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่จ.น่านสู่มรดกโลก ใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท จัดทำหนังสือองค์ความรู้ฯน่าน และสื่อเผยแพร่ในระบบออนไลน์ 2.โครงการศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่มรดกโลก ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท จะดำเนินการศึกษาแหล่งมรดกฯ ประเมินคุณค่าและความสำคัญที่โดดเด่นในระดับสากล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานในการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
ทั้ง 2 โครงการจะดำเนินการในปี 2567 มีเป้าหมายมุ่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าในความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่จ.น่าน และการมีส่วนร่วมแก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนและประชาชนน่าน ในการขับเคลื่อนจ.น่านสู่การเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งเตรียมเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจ.น่าน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก ทั้งนี้โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิตฯ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างวธ. กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.น่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนไปสู่มรดกโลก
เมืองน่านมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความรุ่มรวยศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และยังคงมีพื้นที่ที่มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เคยมีการสำรวจ ขุดค้นและค้นพบข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องมือหิน เตาเผาโบราณ บ่อเกลือสมัยโบราณ โครงกระดูกของมนุษย์ยุคโบราณและมีวัดสำคัญต่างๆ
ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีมุ่งผลักดันให้จ.น่านเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมคู่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงทั้งสองเมืองเข้าด้วยกัน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศไทย ขับเคลื่อน Soft Power ด้านท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ (เครดิตภาพ กระทรวงวัฒนธรรม)
คงต้องตามกันดูของการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่การเป็นเมืองมรดกโลก และโครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก ไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่