"เชียงใหม่" พบค่ามลพิษอากาศพุ่งทะลุเกณฑ์มาตรฐานเข้าขั้นส่งผลกระทบสุขภาพ ยึดอันดับ 1 เมืองหลักคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก ขณะที่ไฟป่าลามไม่หยุด ดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อนมากที่สุดของภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 รายงานข่าวแจ้งว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าและคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยสภาพตัวเมืองถูกปกคลุมหนาทึบด้วยฝุ่นควันติดต่อกันนานนับสัปดาห์แล้ว รวมทั้งหลายบางพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงกลิ่นเหม็นไหม้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากไฟไหม้ป่าที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISDA) ระบุว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 3 เม.ย.67 พบจุดความร้อน(Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 2,446 จุด อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 565 จุด ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 558 จุด,อันดับ 3 ลำปาง 235 จุด,อันดับ 4 น่าน 164 จุด และอันดับ 5 เชียงราย 151 จุด
ขณะที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเขียงใหม่ รายงานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 4 เม.ย.67 รอบเช้าว่า จังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 232 จุด โดยพบในพื้นที่อำเภอจอมทอง 43 จุด,เชียงดาว 43 จุด,แม่แตง 33 จุด,ฝาง 17 จุด,แม่อาย 16 จุด,ไชยปราการ 15 จุด,พร้าว 15 จุด,สะเมิง 12 จุด,อมก๋อย 12 จุด,แม่แจ่ม 5 จุด,แม่ออน 5 จุด,กัลยาณิวัฒนา 5 จุด,เวียงแหง 4 จุด,แม่วาง 2 จุด,แม่ริม 2 จุด,ฮอด 2 จุด และดอยสะเก็ด 1 จุด
ส่วนรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษที่ติดตั้งอยู่ ในตำบลศรีภูมิ,ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม, ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และตำบลหางดง อำเภอฮอด พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น. วันนี้ อยู่ที่ 134.1ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 113.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 103.1ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 200.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 93.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 260,239,229,326 และ 219 ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 ทั้งนี้ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้านเว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 11.00 น. (4 เม.ย.67) พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 196 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 143.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาดังกล่าวอยู่ในอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ขณะที่อันดับ 2 ได้แก่ กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ดัชนีคุณภาพอากาศ 192 US AQI และอันดับ 3 ลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน 166 US AQI
วันเดียวกัน ที่หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่น นำโดย ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร รักษาการแทนผู้ช่วยฝ่ายคุณภาพนักศึกษา และศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล รักษาการแทนหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฏหมาย และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวการประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตมลพิษ
โดย ดร.กฤษณ์พชร เป็นผู้อ่านแถลงการณ์เรื่อง 'เชียงใหม่ คือเขตมลพิษทางอากาศ' เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุถึง นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2567 ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผู้คนจำนวนมากต้องเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ดังสามารถพบเห็นได้จาก ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนภาคเหนือได้ดำเนินการฟ้องคดีนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำตัดสินเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อจัดทำแผนในการรับมือกับปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ก็ได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่ อันทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการทางกฎหมายต้องทอดเวลาออกไป
ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศที่รุนแรงในห้วงเวลาปัจจุบัน ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะแสดงให้เห็นว่าบัดนี้เชียงใหม่อยู่ภายใต้สถานการณ์มลพิษทางอากาศ ทั้งที่ควรต้องมีการแจ้งเตือน การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวพื้นฐานให้กับประชาชน การรับมือกับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในห้วงเวลาก่อนหน้า ความเพิกเฉยของรัฐในการไม่จัดการและไม่ประกาศแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือเพราะห่วงผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง ละเลยต่อสุขภาพชีวิต อนามัย และความเป็นอยู่ของประชาชนที่ไม่ได้หายใจในอากาศที่สะอาด
ทั้งหมดนี้เป็นภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ปรากฎให้เห็น แม้นายกรัฐมนตรีจะมีการเยือนเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใดในสถานการณ์เฉพาะหน้า มีข้อมูลทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องประสบกับโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา ในสถานการณ์ระยะยาว มีรายงานการศึกษาที่ขี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทุกจังหวัดมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด มะเร็งปอด และปอดอุดกั้นเรื้อรังสูงกว่า
ข้อมูลเหล่านี้ย่อม เป็นการยืนยันได้ว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศให้เป็นที่รับทราบกันว่าเชียงใหม่คือเมืองมลพิษทางอากาสในระดับรุนแรง โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ประกาศ เพราะชัดเจนว่ายากจะฝากความหวังไว้ได้ การร่วมกันประกาศว่าเรากำลังอยู่ในเมืองที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักว่า สภาพแวดล้อมขณะนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรุนแรง และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนป้องกันตนเองเท่าที่จะกระทำได้ การปล่อยให้เด็ก ๆ คนแก่ ผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้าคนทำงานต้องอยู่ในพื้นที่โล่งโดยไม่มีการแจ้งเตือน เพื่อให้เกิดการป้องกันตัว ถือเป็นความอำหิตอย่างยากจะปฏิเสธ รวมถึงการกระตุ้นเตือนบรรดานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศ
"ในนามของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จึงขอประกาศว่าเชียงใหม่ในห้วงเวลานี้ คือเขตมลพิษทางอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนอย่างรุนแรง เพื่อเป็นสร้างความตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งใคร่ขอเรียกร้องให้ประชาชนในจังหวัดอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศได้ร่วมกันประกาศว่าจังหวัดของตนก็เป็นเขตมลพิษทางอากาศเช่นเดียวกันกับจังหวัดเชียงใหม่ การร่วมกันประกาศเขตมลพิษทางอากาศโดยประชาชนในทุกพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหานี้ นอกจากจะเป็น การส่งเสียงเตือนถึงภัยอันตรายจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระหว่างประชาชนด้วยกันแล้ว ก็จะยังเป็นการร่วมกันกดดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในการรับมือกับปัญหาฝุ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ด้าน รศ.สมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการได้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจประกาศเขตภัยพิบัติ หรือเขตควบคุมมลพิษ แต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลับไม่ทำอะไรเลยหลังจากมาปั่นจักรยานและพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆนี้ เมื่อรัฐบาลไม่ทำอะไรเราจึงออกมาประกาศเขตมลพิษทางอากาศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเสียงของประชาชน และนอกจากชาวเชียงใหม่ก็อยากให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆที่เผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ร่วมกันประกาศเขตมลพิษให้ทั่วกัน
ส่วนที่ นายกรัฐมนตรี อ้างว่าการไม่ประกาศเขตมลพิษทางอากาศเพราะเกรงจะกระทบท่องเที่ยว รศ.สมชาย บอกว่า นักท่องเที่ยวไม่ได้โง่และใช้อินเทอร์เนตเข้าถึงข่าวสารได้จึงรู้อยู่แล้ว สิ่งที่นายเศรษฐาและรัฐบาลควรทำ คือการประกาศและควรแสดงเจตนาที่ดี เช่น หากมีนักท่องเที่ยวยืนยันมาเชียงใหม่ ก็ควรแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวป้องกันตัวเอง เพราะเราคงไม่ปราถนาจะเห็นนักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่แล้วกลับไปล้มป่วย
"การประกาศเขตมลพิษคือการแจ้งเตือนว่านี่คือสภาวะที่เป็นอันตรายแล้ว ข้อมูลทางการแพทย์ก็ยอมรับว่า ภาคเหนือ คือพื้นที่ที่มีคนป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงมาก โดยเฉพาะเชียงใหม่เป็นพื้นที่เสี่ยงเรื่องมะเร็งปอด แม้แต่อาจารย์ใน มช.ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ล้มป่วยเป็นมะเร็วปอดเสียชีวิตไปแล้วหลายคน" รศ.สมชาย กล่าว
รศ.สมชาย กล่าวต่อไปถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี จะแบนไม่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านว่า เกรงว่านายเศรษฐาอาจอยู่ไม่ถึงปีหน้า และเรื่องนี้ไม่ควรรอถึงปีหน้า เราเผชิญปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี ทำไมจึงต้องรอปีหน้า ในฐานะรัฐบาลหากไม่มีน้ำยาก็ประกาศออกมาให้ประชาชนรู้ จะได้ชัดเจนเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะได้ลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่ทำหน้าที่อย่างไร"
นายกฯ เศรษฐา ยกให้เชียงใหม่เป็นโมเดลในการแก้ปัญหา PM 2.5 รศ.สมชาย มองว่า เชียงใหม่โมเดลไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะช่วงแรกๆ เป็นต้นฤดูฝุ่นปัญหายังไม่รุนแรง แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เชียงใหม่โมเดลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เมื่อล้มเหลวนายเศรษฐาควรออกมาพูดเรื่องนี้อีกรอบ จึงฝากไปถามนายเศรษฐาว่า เชียงใหม่โมเดลเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมฝากบอกให้นายเศรษฐา กลับมาปั่นจักรยานที่จังหวัดเชียงใหม่อีกสักรอบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ IQ Air ซึ่งรายงานดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ได้จัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง (AQI) พบว่า เชียงใหม่ เป็นอันดับ 1 ของโลก