"พิพัฒน์" แจงชัดค่าจ้าง 400 บาท อยู่รอดทุกฝ่าย พร้อมยันบอร์ด “สปส.” เร่งทำงาน เพิ่มวันลาคลอด 98 วัน ได้เงินเต็ม

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในประเด็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันพร้อมตั้งเป้าหมาย ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นจำนวน 600 บาท ภายในปี 2570 กระทรวงแรงงานจึงนำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี เพื่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง  ผลการพิจารณาจากการประชุมไตรภาคีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 คณะกรรมการไตรภาษีได้เห็นชอบในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 400 บาท ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ภายใต้ข้อกำหนด ในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ณ พื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด  ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง  ซึ่งการขึ้นค่าจ้างดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมในระดับพื้นที่

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีถูกกล่าวหาว่าเรียกรับผลประโยชน์จากการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว (CERTIFICATE OF IDENTIFY : CI) นั้นว่า ในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าจากความต้องการกำลังแรงงานต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย จึงมีแรงงานต่างชาติ จำนวนมาก เข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้อุตสาหกรรมของประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อได้ กระทรวงแรงงาน จึงได้ขออนุมัติในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างในประเทศไทย ตามมติ 5 กรกฎาคม 2566 เพื่อเป็นการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย โดยกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่ตกค้างในประเทศไทย สามารถขึ้นทะเบียนได้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2566 และ ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567  ดังนั้นหน้าที่ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เสร็จสิ้นภายหลังจากการอนุมัติและอนุญาตในการทำงาน โดย

“ผมขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากการดำเนินการพิสูจน์สัญชาตินั้นเป็นภารกิจและหน้าที่ของประเทศต้นทางที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ และผมได้สั่งการให้ กรมการจัดหางานในการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนข้อกล่าวหาดังกล่าว และยินดีในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึง การได้มาของกรรมการประกันสังคมผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนนั้น สามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการ การเลือกตั้ง หรือ การสรรหา ทั้งนี้ การกำหนดวิธีการดำเนินการนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการประกันสังคมที่จะให้ความเห็นชอบวิธีการได้มา พร้อมทั้งกล่าวถึง กระทรวงแรงงาน นำเสนอเรื่องการลาคลอดบุตร แบบมีการชดเชยเงินเดือน เท่าเงินเดือน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่าย 49 วัน ส่วนอีก 49 วัน ประกันสังคม เป็นผู้รับผิดชอบต่อ ผู้ใช้สิทธิในการลาคลอดบุตร จะได้รับเงินเดือน 98 วัน โดยได้รับเงินค่าจ้างเต็ม ซึ่งขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานดังกล่าว ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ต่อในวาระที่ 2 และ 3 พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป