บทความพิเศษ

มติ 2728 ของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันจันทร์(25 มี.ค.) ได้รับเสียงสนับสนุน 14 เสียง ขณะที่สหรัฐฯ งดออกเสียง โดยไม่ได้ใช้สิทธิวีโต้ เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา ช่วงเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม และเรียกร้องการปล่อยตัวประกันโดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลั่งไหลเข้าสู่เขตกาซาได้อย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวปาเลสไตน์ที่อดอยากหิวโหยเพราะภัยสงคราม  

มติดังกล่าว นับเป็นมติแรกของ UNSC ที่เรียกร้องให้มีการ “หยุดยิง” ในฉนวนกาซา หลังอิสราเอลเปิดฉากทำสงครามกับกลุ่มฮามาสเมื่อเช้าตรู่วันที่ 7 ต.ค.2566 อิสราเอลอ้างเหตุต้องการตอบโต้และถอนรากถอนโคนกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ในเขตฉนวนกาซา ซึ่งนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ อิสราเอลบุกโจมตีกาซาอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเขตกาซาแล้วมากกว่า 32,000 คน

ดังนั้น นอกจากเรียกร้องการหยุดยิงในกาซาโดยทันทีในเดือนรอมฎอนแล้ว มติของ UNSC ยังเรียกร้องให้ ฮามาสปล่อยตัวประกันอย่างไม่มีเงื่อนไข และขอให้มีการเปิดทางสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซาด้วย 

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) ให้เพิ่มการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าไปในฉนวนกาซาอย่างเร่งด่วนเพื่อสู้กับวิกฤตความอดอยาก นอกจากนี้ ยังเผยด้วยว่า เริ่มมีสัญญาณความเห็นพ้องในระดับนานาชาติ ที่อยากสื่อสารถึงความจำเป็นในการหยุดยิงไปยังอิสราเอล

นายกูเตอร์เรซกล่าวระหว่างการเดินทางเยือนประเทศจอร์แดนว่า ได้เกิดกระแสความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะบอกอิสราเอลว่า การบุกภาคพื้นดินเข้าไปในเมืองราฟาห์ อาจจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม เมืองดังกล่าว (ราฟาห์) ตั้งอยู่ใต้สุดของฉนวนกาซา และมีพรมแดนติดกับประเทศอียิปต์ ปัจจุบันกลายเป็นจุดพักพิงสุดท้ายของประชากรครึ่งหนึ่งของฉนวนกาซา ซึ่งต้องพลัดถิ่นจากการสู้รบในพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาพึ่งพิงตลอดช่วงเวลามากกว่า 5 เดือนของสงครามครั้งนี้

เลขาธิการใหญ่ของยูเอ็นกล่าวว่า อิสราเอลควรยุติการกีดขวางการจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ และควรอนุญาตให้รถขนส่งปัจจัยความช่วยเหลือของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) เข้าไปในพื้นที่ตอนเหนือของกาซาซึ่งกำลังเผชิญภัยความอดอยากขั้นวิกฤต

“มันเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่จะต้องมีความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจำนวนมากเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวในตอนนี้ นั่นหมายถึงการเปิดจุดเข้าพื้นที่มากขึ้น และหมายถึงการรวบรวมความพยายามของทุกภาคส่วนโดยไม่มีอุปสรรคและข้อจำกัดจากฝั่งอิสราเอล” นายกูเตอร์เรซกล่าว

นานาชาติแสดงความยินดี แต่อิสราเอลยังเงียบกริบ

นายอัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีต่างประเทศของจอร์แดน ซึ่งเป็นชาติที่พยายามเป็นตัวกลางในการจัดเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา แสดงความยินดีกับมติของ UNSC ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงและกดดันอิสราเอลให้อนุญาตการส่งความช่วยเหลือโดยไม่มีการปิดกั้นเข้าสู่พื้นที่ฉนวนกาซา โดยจอร์แดนระบุว่า มติดังกล่าวคือการสื่อสารว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกาซา เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และสิ่งนั้นต้องจบลงโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบัน จอร์แดนเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวน 2,400,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในจำนวนประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับอิสราเอล

นอกจากจอร์แดนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบในกาซาเนื่องจากต้องเปิดพรมแดนรับชาวปาเลสไตน์ที่อพยพลี้ภัยสงครามออกมาจากกาซาให้เข้ามาพักพิงนับล้านคนแล้ว ทางด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังออกมาแสดงความยินดีกับมติของ UNSC เช่นกัน

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO แสดงความยินดี และเรียกร้องให้มีการบังคับใช้มติดังกล่าวโดยทันที เรื่องหยุดยิงอาจไม่ง่าย อิสราเอลเคยฝืนมติยูเอ็นมาแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ แนนซี โอเคล ประธาน Center for International Policy ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า มติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในกาซา แม้จะมีความสำคัญแต่ก็ออกมาช้าเกินไป และยังไม่เพียงพอ อาจจะดูเป็นสัญลักษณ์มากกว่าจะให้ผลเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายถึงการหยุดยิงจริงๆ และยุติสงคราม อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวอาจทำให้มีการหยุดยิงได้ชั่วคราว  

คำถามสำคัญก็คือ เมื่อ UNSC มีมติออกมาแล้ว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีพันธะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ทั้งนี้ ภายใต้กฎบัติสหประชาชาติ มาตรา 25 สมาชิกของสหประชาชาติตกลงที่จะยอมรับและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) ถือเป็นการยอมรับข้อผูกพัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯซึ่งเป็นชาติสมาชิกที่ให้การรับรองกฎบัตรสหประชาชาติ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า มติเรียกร้องให้หยุดยิงในกาซาของ UNSC เมื่อวันจันทร์ ไม่มีผลผูกพันให้ต้องทำตาม (non-binding resolution) ผู้ที่กล่าวคือ นางลินดา โทมัส-กรีนฟีลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ซึ่งออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนบางส่วนที่สำคัญของมติที่ “ไม่มีผลผูกพัน” ดังกล่าวนี้อย่างเต็มที่ ในวันเดียวกัน นายแมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวตอกย้ำในทิศทางเดียวกันว่า มติของ UNSC เมื่อวันจันทร์ไม่มีผลผูกพันแต่อย่างใด

ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับทรรศนะของเจ้าหน้าที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย เช่น จีน

นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติกล่าวว่า มติของ UNSC มีผลผูกพันที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นเดียวกับนายฟาห์รัน ฮัค รองโฆษกยูเอ็นที่กล่าวว่า มติของ UNSC ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ และดังนั้น จึงเช่นเดียวกันกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ชาติสมาชิกมีผลผูกพพันต้องปฏิบัติตาม ขณะที่นายเปโดร โคมิสซาริโอ เอกอัครราชทูตโมซัมบิกประจำยูเอ็น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่โหวตสนับสนุนมติหยุดยิงในการประชุมของ UNSC เมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) กล่าวชัดเจนว่า มติทั้งหมดของ UNSC ถือว่ามีผลผูกพันและต้องปฏิบัติตาม

ถามว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเป็นอย่างไร?

หากสมาชิกของยูเอ็นไม่ปฏิบัติตามมติของ UNSC ก็จะมีการประชุมเพื่อโหวตมติติดตามผลซึ่งจะระบุถึงการละเมิดมติและบทลงโทษ ซึ่งอาจเป็นในรูปของการคว่ำบาตร (แซงก์ชัน) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้กองกำลังนานาชาติบีบบังคับ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา อิสราเอลเคยเพิกเฉยต่อมติของ UNSC มาแล้ว โดยมีสหรัฐหนุนหลังอยู่ห่างๆ ด้วยการงดออกเสียง เช่นในเดือนธันวาคม 2016 (พ.ศ.2559) ซึ่งเป็นช่วงปลายๆสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ประชุม UNSC ได้มีมติว่า การเข้าไปปักหลักตั้งชุมชนอิสราเอลในดินแดนของปาเลสไตน์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ  มีสมาชิกให้การรับรองมติดังกล่าว 14 ประเทศ และสหรัฐอเมริกางดออกเสียง แต่กระนั้น อิสราเอลก็เพิกเฉยและไม่ปฏิบัติใดๆ  หรืออีกครั้งหนึ่ง ไม่นานนี้เอง ในเดือนธันวาคม 2023 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติลงคะแนนท่วมท้น เสียงส่วนใหญ่เรียกร้องการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม แต่เนื่องจากเป็นมติที่ไม่มีผลผูกพัน อิสราเอลจึงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มติของ UNSC มาช้าเกินไป เพราะมติดังกล่าวเรียกร้องให้หยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงประมาณวันที่ 9 เมษายนที่จะถึงนี้แล้ว ดังนั้น หากอิสราเอลยินยอมหยุดยิงตามมติ ก็จะเป็นการหยุดยิงระยะสั้นๆ แค่เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

มติดังกล่าวเรียกร้องการหยุดยิงในเดือนรอมฎอนเพื่อจะนำไปสู่การหยุดยิงตลอดไปและยั่งยืน โดยในเอกสารระบุคำว่า “lasting and sustainable ceasefire” จากเดิมที่จะใช้คำว่า หยุดยิงถาวร (permanent) แต่สุดท้ายก็ละคำนี้ออกไป เพื่อจะสามารถผ่านมติออกมาได้โดยเอกฉันท์

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่เห็นว่า ควรจะใช้คำว่า “หยุดยิงอย่างถาวร” ในมติของ UNSC เพราะหากไม่ใช้คำนี้ ก็หมายความว่าเป็นการเปิดช่องให้อิสราเอลสามารถกลับมาใช้กำลังทหารในฉนวนกาซาอีกเมื่อไหร่ก็ได้หลังเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไป

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาซึ่งงดออกเสียงและไม่ได้ใช้สิทธิวีโต้ (ใช้สิทธิยับยั้ง) มติของ UNSC ยังคงไม่หยุดส่งอาวุธสนับสนุนกองทัพอิสราเอล ทั้งยังยืนยันว่าจะยืนหยัดเคียงข้างเพื่อความมั่นคงของอิสราเอลด้วย

 

หมายเหตุ : อ้างอิงจาก เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ