ผอ.สำนักฯ ลั่น อยู่ 30 ปี สร้างถนน 6 สาย ติดปัญหางบฯ-ชาวบ้าน รับเข้าใจข้อกังวลเวนคืนพื้นที่สร้างถนน กำลังปรับตามเหตุผล
วันที่ 4 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ชี้แจงกรณีการขยายความกว้างของเขตทาง ก-ช ซึ่งมีข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายถนน และการใช้งบประมาณในการก่อสร้างถนนและเวนคืนพื้นที่ของ กทม.ว่า ในส่วนถนน ก (กว้าง12ม.) และ ข (กว้าง16) ตามแนวคิดเดิมมีทั้งการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างถนนใหม่ และขยายถนนเดิมที่มีอยู่ เช่น การขยายจุดคอขวดให้มีขนาดตามผังเมืองกำหนด แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกแนวคิดเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายถนนเดิมแล้ว เปลี่ยนเป็นการใช้ พรบ.ควบคุมอาคาร ทดแทน ในการกำหนดระยะถอยร่นกรณีก่อสร้างอาคารใหม่ในอนาคต เพื่อเว้นระยะไว้สำหรับขยายถนน ส่วนแนวทางสร้างถนนใหม่ยังมีอยู่ตามแผนเดิม ซึ่งมีการเวนคืนพื้นที่ไปแล้ว คาดว่าไม่เกิน 10 สาย เช่น ถนนเลียบคลองประปา เป็นต้น
ส่วนถนน ค (กว้าง20ม.) และ ง (กว้าง30ม.) จากการพิจารณาพบว่า มีขนาดกว้างเกินความจำเป็น เช่น พื้นที่ถนน ง10 ถนนเตชะวณิช ขนาดการขยายถนนอาจไม่สอดคล้องกับปริมาณการจราจร อยู่ระหว่างพิจารณาลดขนาดการขยายถนน รวมถึงพิจารณาถนนใกล้เคียงด้วย เช่น การเชื่อมถนน ง6 (แนวรถไฟฟ้าสายที่ม่วง เตาปูน-สามเสน) ซึ่งเป็นซอยเล็ก การจะขยายต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์เห็นชอบ เบื้องต้นพิจารณาเห็นว่า ขนาดถนนที่จะขยายตามแผนผังเมืองในส่วนนี้ มีความกว้างเกินไปต่อปริมาณการจราจร
นายไทวุฒิ กล่าวว่า โดยภาพรวม ขนาดถนน ค-ช เป็นการสร้างถนนใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่การขยายถนนเดิม ซึ่งดำเนินการต่อตามแผนผังเมืองปี 2556 ที่ทำค้างไว้ โดยสำนักการโยธาเป็นผู้เวนคืน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การสำรวจ การออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เป็นต้น โดยพื้นที่ถนนในส่วน ค-ช ทั้งหมด อยู่รอบนอกกรุงเทพฯ ไม่มีความหนาแน่นของผู้อาศัย และไม่มีอุปสรรคในการเวนคืนพื้นที่ ที่สำคัญ แผนสร้างถนนส่วน ค-ช ไม่มีวัตถุประสงค์เปิดโอกาสหรือสนับสนุนให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ถนนตัดผ่าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ตามแนวถนนตัดผ่านรับทราบ เพราะเป็นถนนตามแนวผังเมืองเดิม 2556 ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาใหม่ โดยสำนักการโยธาได้ดำเนินการเวนคืนแล้วบางส่วน และอยู่ในแผนการพัฒนาของสำนักการโยธา ในการนำผังฯ 2556 มาใช้ ดังนั้น ภาระในการวางแผนการใช้งบประมาณสร้างถนนทั้งหมดตามแผนผังเมือง จะอยู่ที่สำนักการโยธา ในการเรียงลำดับความสำคัญของการสร้างถนนแต่ละเส้น
“งบประมาณในการเวนคืนถนนทั้งหมดไม่มีทางพอ ผมอยู่นี่มา 30 กว่าปี ผมทำไม่ถึง 10 สาย คิดว่า 6 สายเท่านั้น ฉะนั้น ทำมาเยอะ ๆ มันไม่เกิดครับ เราก็ทราบดี ผมเป็นคนปฏิบัติผมก็ทำไม่ได้ เพราะกว่าจะได้ถนนแต่ละสายต้องสำรวจ คุยกับชาวบ้าน และงบประมาณที่ใช้บางเส้นเป็นหมื่นล้าน ผมรับทราบถึงข้อกังวลและความห่วงใยต่าง ๆ ผมเองก็ห่วงใยอย่างนั้น ดังนั้นถนนสายใหญ่เส้นใหม่ จะยังไม่เกิดในผังเมืองฉบับนี้ แต่จะมีการลดขนาดของสายทาง เพื่อให้เกิดขึ้นได้จริง“ ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ชี้แจง