วันที่ 4 เม.ย.67 เมื่อเวลา 12.00น. ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคณะประชาชนทวนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านนายสมคิด เชื้อคง สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เพื่อตั้งคณะกรรมการเร่งรัดในการชันสูตรศพการเสียชีวิตของ 62 ศพ วีรชนประชาธิปไตย 2553 ตั้งแต่เดือนเม.ย.- พ.ค. 2553 และพิจารณาประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี เหตุการณ์ทางการเมือง ในเดือน เม.ย.- พ.ค.ปี 2553
นพ.เหวง กล่าวว่า จากกฎหมายประมวลกฎหมายวิอาญามาตรา 150 ระบุว่าการตายผิดปกติที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องชันสูตรพลิกศพโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ นิติเวช และฝ่ายปกครอง จึงเรียนถึงนายเศรษฐา เพื่อตั้งคณะทำงานเร่งรัดในการชันสูตรพลิกศพ 62 ศพ วีรชนประชาธิปไตย 2553 ที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้เวลา 30 วันและขยายได้อีก 2 ครั้ง ซึ่งในยุคที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินเรื่องไปจนส่งเรื่องให้ศาลมีคำสั่งการตายได้ 20 ศพ แต่พอหลังจากการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อปี 2557 เรื่องกลับเงียบลงไป จึงขอประณามการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะคุณไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150
"คนตายจากการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง คุณละเลยกฎหมาย เหยียบย่ำกฎหมาย ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเศรษฐา ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติตามกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อเร่งรัดในการชันสูตรพลิกศพ 62 ศพที่ยังไม่ได้มีการชันสูตร โดยเรื่องดังกล่าวเงียบหายไปเลย อีกทั้งมีบางศพโดนกระสุนที่มาจากฝั่งทางทหาร"
นพ.เหวง กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำเรื่องนี้สำเร็จ จนศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการตายสำเร็จ จะเป็นคุณูปการอย่างมหาศาลของรัฐบาลเศรษฐา ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยไม่ว่าการที่ทหารใช้ปืนสงครามกับประชาชนสองมือเปล่า จะไม่ได้เป็นเรื่องลอยนวลอีกต่อไปแล้ว หรือทำตามอำเภอใจอีกต่อไป ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งในการยึดอำนาจของคสช. และที่จะทำการตัดตอนวีรชน 2553 กว่า 100 ศพ จึงกราบเรียนรัฐบาลว่าทำเถอะ หลังจากนั้นพอเรื่องชัดเจนแล้วก็จะเห็นทิศทางว่าเราจะดำเนินคดีกับผู้ที่ฆ่าประชาชนสองมือเปล่าอย่างไร จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถือธงนำในการแก้กฎหมายยคือถ้าทหารที่ทำผิดกฎหมายอาญาต่อพลเรือน ต้องขึ้นศาลพลเรือน เช่นเดียวกับนักการเมืองที่ทำความผิดอาญาต่อพลเรือนก็ต้องขึ้นศาลพลเรือนเช่นกัน ไม่ใช่ไปขึ้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง