ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการค้าหลังวิกฤติโลก แต่ต้องพยายามหาแหล่งวัตถุดิบและตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน คือหนทางฟื้นฟูภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ของไทย และทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) จัดงาน “ITD Research Forum 2024: Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export” เพื่อผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจขนส่ง เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ 2567 เวลา 8.30-15.00 น. ณ ห้อง Mayfair A ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ทั้งช่องทางเฟซบุ๊กและยูทิวบ์
คุณสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา แสดงความเชื่อมั่นว่า MSMEs สามารถประสบความสำเร็จในระดับโลก อ้างอิงจากการวิจัยของ สคพ. พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แปรผันอย่างต่อเนื่อง เราเรียกว่าปรากฏการณ์หงส์ดำ หรือ Black Swan คือ การเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ไม่เคยมีการคาดการณ์มาก่อน แต่ส่งผลกระทบมหาศาลกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก”
“ตั้งแต่กรณีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 เป็นต้นมา เราไม่เคยจินตนาถึงการปิดด่านพรมแดนทั่วโลก การหยุดชะงักของการเดินทางและการขนส่งข้ามพรมแดน ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของสายพานการผลิต การกระจายสินค้า และการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วทั้งโลก”
“การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย มีการกีดกันทางการค้าและการปิดล้อมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ มิหนำซ้ำโลกยังอยู่ท่ามกลางความแปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลต่อพลวัตและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานโลก”
“ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การนิ่งนอนใจพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบ แหล่งแปรรูป และแหล่งกระจายสินค้า เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือ ประเทศที่ห่างไกลออกไป มิอาจเกิดขึ้นได้อีกต่อไปในโลกยุคปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องแสวงหาลู่ทางใหม่ ๆ ทั้งแหล่งวัตถุดิบ ตลาด และเส้นทางขนส่งสินค้าที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง และบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานอย่างกระทันหัน ดังนั้นการกระชับห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านของเราจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเป็นไปของเศรษฐกิจไทย”
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงปาฐกถาหัวข้อ “แนวทางการพัฒนารูปแบบการขนส่งในอนุภูมิภาค GMS” ซึ่ง ดร.ณรงค์ชัยอธิบายว่า
“เราพูดกันตลอดว่า ประเทศไทยสามารถเป็น Gate way หรือทางเชื่อมภูมิภาคได้ และใกล้จะเป็นความจริง รัฐบาลไทย พัฒนาการขนส่ง ทุกช่องทางเพื่อเป็นทางเชื่อมภูมิภาค เช่น การสร้างจุดข้ามแดน ระหว่างไทยไปประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 จุด มีการสร้างสะพานข้ามพรมแดนระหว่าง เวียดนามกับจีน เวียดนามกับสปป.ลาว สิ่งเหล่านี้ ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงสะดวกรวดเร็ว และประหยัดงบประมาณยิ่งขึ้น”
แผนการในอนาคตคือการเชื่อมการขนส่งในภูมิภาคด้วยรถไฟ ซึ่งถ้าสำเร็จเมื่อไร จะลดต้นทุนได้ ขณะที่การขนส่งทางอากาศสะดวกอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน การค้าระหว่าง MSMEs กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นหลักคือ โคเนื้อ โคนม และผลิตภัณฑ์นม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าการเกษตรต่าง ๆ และปิโตรเลียม
คุณจิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาย้ำให้เห็นว่า การพัฒนาบทบาทภาคการขนส่งคือปัจจัยส่งเสริมการค้าชายแดนให้ประสบความสำเร็จได้
งาน ITD Research Forum 2024 ช่วงเช้า ยังมีการเสวนาเรื่อง “การยกระดับการขนส่งข้ามพรมแดนเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใน GMS” ผู้ร่วมเสวนาคือ รองศาสตราจารย์ ดร.พิทยา สุวคันธ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และผู้ก่อตั้ง WeMove Platform, คุณธงชัย วณิชวิกรม อนุกรรมการด้านการค้าชายแดน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคุณวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สคพ.
เห็นได้ว่า นอกจากไทยต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน การขนส่งคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ ธุรกิจขนส่งและการส่งออกของประเทศไทยเติบโตมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้สนใจ สามารถรับชม งาน ITD Research Forum 2024 ย้อนหลังได้ทาง เฟซบุ๊ค แฟนเพจและยูทิวบ์ แชนแนลของ ITD ดังรายละเอียดต่อไปนี้ International Institute for Trade and Development, ITD LIVE, ITD Talk a Trade และ www.itd.or.th