วันที่ 4 เม.ย.2567 เวลา 09.04 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เริ่มคนแรกนายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกฯเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นได้อย่างไร นายกฯไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ เพราะทำลายเศรษฐกิจ
ต่อมาเวลา 09.20 น.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การกระทำของรัฐบาลเป็นเหมือนตลกหกฉาก โดยฉากสุดท้ายที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัดสินเกี่ยวกับการประชามติ ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเมื่อใด ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทั้งที่ย้ำว่ามีวิกฤตความเห็นต่างที่จะแก้ไข ข้อสรุปไตรมาสแรก ของปี 67 แต่เลยเวลาแล้ว 3-4 วัน แต่ในมิติของรัฐธรรมนูญยังอยู่จุดเดิม และให้อำนาจตุลาการเป็นผู้ตัดสินเรื่องดังกล่าว
หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังล่าช้าต่อไป อาจสร้างความเสียหายที่ประเทศไทยสูญโอกาสมีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ก่อนการเลือกตั้ง เพราะตามกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หากรัฐบาลดำเนินการตั้งแต่แรก จะใช้เวลาตามเทอมของรัฐบาลและก่อนการเลือกตั้ง แต่หากต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผลอาจออกมาได้สองทาง คือ ทำ ประชามติสองครั้ง เป็นไปได้ ที่จะจัดรัฐธรรมนูญใหม่ และ กฎหมายประกอบได้ทันกรอบสี่ปี แต่หากทำประชามติสามครั้ง เสี่ยงต้องกลับมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ และไม่ได้รัฐธรรมนูญใหม่ และ กฎหมายประกอบก่อนการเลือกตั้ง
"แม้มีรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐบาลเศรษฐา แต่รัฐบาลของนายเศรษฐาที่ตั้งได้ และอยู่ได้ จากใบบุญอำนาจเดิม ดังนั้นไม่ไว้ใจให้ประชาชนออกแบบการเมืองและจัดทำกติกาสูงสุดตามที่ประชาชนคาดหวัง ทั้งนี้ผมขอทำนายว่า รัฐบาลจะมีไพ่ไม้ตายที่เตรียมมาใช้ คือ 1.สสร.สูตรผสม จากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เพื่อให้โหวตแข่งในประเด็นที่ต้องการผลักดัน 2.กินรวบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่หมกเม็ดไว้ใน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งยื่นเมื่อต้นปี 2567 ผ่านกลไกของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีสัดส่วนจากรัฐบาลและสส.ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน และ 3.ด่านทางผ่านวุฒิสภา ที่ได้สิทธิเห็นชอบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ สสร.ยกร่าง ก่อนนำไปทำประชามติ แม้ว่าจะมีสว. ชุดใหม่ เชื่อว่ายังยึดโยงกับเครือข่ายอำนาจเดิม
ผมทำนายว่ารัฐบาลคิดค้นและทยอยใช้เพื่อควบคุมรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งนี้หากคำทำนายเป็นจริง คือรัฐบาลเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่มากกว่าประชาชน เพราะรัฐบาลผลิตนวัตกรรมล็อกสเปครัฐธรรมนูญ แบบนี้คือประชาธิปไตยที่ขอใบอนุญาต ผมเห็นท่าทีของพรรคเพื่อไทยพยายามออกแบบกลไกให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแทรกแซง ขอถามนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทยว่าเชื่อในอำนาจประชาชนหรือไม่ หากการพ่ายในสนามเลือกตั้งครั้งแรก จึงมองว่าไม่ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง จึงต้องหากระบวนการ” นายพริษฐ์ อภิปราย
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ตนขอให้รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ต้องการกินรวบ และไม่ต้องขอใบอนุญาตจากสว. ก่อนการทำประชามติ เพื่อให้ความหวังประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเต็มใบไม่แตกสลาย ดังนั้นตนขอเสนอแนะต่อการทำประชามติ ว่า ให้ปฏิเสธคำถามยัดไส้ ต้องตั้งคำถามเปิดกว้าง และสนับสนุน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% สนับสนุนการแก้ไขรายมาตราให้เป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่รออยู่ในระเบียบวาระประชุม ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวของรัฐบาล ต่อการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนในความจริงใจและรักษาคำพูดและสัจจะที่ให้ไว้ประชาชน