“ททท. ชู 72 เส้นทางแห่งศรัทธาเพื่อเสริมสิริมงคล สร้างความรุ่งเรืองแห่งชีวิต เชื่อมโยงชุมชนที่มีศักยภาพและแหล่งท่องเที่ยวอื่นทั่วประเทศใน 5 ภูมิภาค” 

เนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”  ด้วยขบวนพาเหรดสงกรานต์ยิ่งใหญ่ พร้อมนำเสนอความวิจิตรตระการตา สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม Soft Power ไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลกร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองประเพณีที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าของชาวไทย บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน นี้ 


 
สำหรับกิจกรรมภายในงาน จะนำเสนอภาพลักษณ์ความสวยงามของประเพณีสงกรานต์ไทย ด้วยขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์กว่า 20 ขบวน ในวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์เริ่มต้นจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปสิ้นสุดที่ท้องสนามหลวง และในวันที่ 12 เมษายน 2567 ขบวนรถพาเหรดจะแห่รอบท้องสนามหลวง 1 รอบ ก่อนที่จะจอดแสดงโชว์ที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน 2567
เสริมความเป็นสิริมงคลกับชีวิต ด้วยขบวนรถพระพุทธรูป ขบวนรถเทพีสงกรานต์ ประจำปี 2567 "มโหธรเทวี" เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรเหนือหลังนกยูง โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้แต่งตั้งนางสาว แอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 เป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 ร่วมถ่ายทอดคุณค่าและแสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทย

ชมขบวนรถพาเหรด 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี  สมุทรปราการ  นครศรีธรรมราช เชียงราย  หนองคาย  พิษณุโลก  สงขลา  บุรีรัมย์  พระนครศรีอยุธยา นครพนม  ลำปาง เลย สุโขทัย ภูเก็ต ชมขบวนรถพาเหรด soft power ได้แก่ ขบวนของแฟชั่น เกมส์ ภาพยนตร์  เฟสติวัล  

พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคน ทั้งการแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศ ตลอดเวลา 5 วัน และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากเช่น การแสดงโขนชุดใหญ่ รวมถึงกิจกรรมที่นำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยที่หลากหลาย เช่น หนังใหญ่ รำมโนราห์ หุ่นละครเล็ก เซิ้งโปงลาง กลองสะบัดชัย รำกลองยาว และการแสดงร่วมสมัย เรียนรู้กับลานกิจกรรมพื้นที่ย้อนยุค ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน  เสริมด้วยโซนสงกรานต์อัตลักษณ์ 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ 

 ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่นการสาธิตและ DIY  การจำหน่ายสินค้าอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค กิจกรรมลานเล่นน้ำ เช่น การแสดงน้ำพุประกอบดนตรี อุโมงค์น้ำ ถังน้ำล้นยักษ์ สถานีน้ำ สำหรับให้นักท่องเที่ยวร่วมเล่นน้ำ โดยคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด การแสดงโดรนแปรอักษร และโซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสุดยอดของดี OTOP จากทั่วประเทศ 

นักท่องเที่ยวยังมีส่วนร่วมท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกอีกด้วย โดย ททท. ร่วมกับ PTTGC จัดกิจกรรม GCYOUเทิร์น บริหารจัดการขยะจากพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ในบริเวณงาน โดย recycle และ Upcycling นำกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีค่าและนำกลับมาใช้ได้ใหม่


นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญชวนให้คนไทยท่องเที่ยวไหว้พระเสริมสิริมงคลในพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมเยือน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ 


พร้อมจัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในช่วงเดือนเมษายน และยังได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ไทย

ขณะเดียวกัน ททท.  ได้นำเสนอ 72 เส้นทางแห่งศรัทธาเพื่อเสริมสิริมงคล สร้างความรุ่งเรืองแห่งชีวิต โดยเชื่อมโยงชุมชนที่มีศักยภาพและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวน 72 เส้นทางทั่วประเทศใน 5 ภูมิภาค แบ่งเป็นเส้นทางไหว้พระธาตุ เส้นทางตามรอยพระเถราจารย์ และเส้นทางขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เพื่อให้คนไทยได้ออกเดินทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงสงกรานต์วันปีใหม่ไทย พร้อมแนะนำร้านอาหารอร่อยในบริเวณใกล้เคียงให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย

สงกรานต์ปีนี้อย่าลืมให้ความสำคัญกับครอบครัว พบปะรวมญาติ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ตลอดจนรดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทย ในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็น “วันครอบครัว” เนื่องจากครอบครัว เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ 

ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยใช้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” จัดตั้งศูนย์อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 บูรณาการการดำเนินงานทุกภาคส่วน ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เตรียมความพร้อมการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว   รวมทั้งจุดบริการประชาชนบริเวณเส้นทางเข้าออกเมือง รวม 41 จุด

ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 1 – 21 เมษายน 2567 จะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 15.03 ล้านคน-ครั้ง และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดรายได้ทางการท่องเที่ยว 52,500 ล้านบาท 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม TAT Contact Center 1672