ฝ่ายค้านถล่มแหลก ผลงานรัฐบาลล้มเหลว ทำประชาธิปไตยไหลย้อนกลับ ตั้งครม.สมบัติผลัดกันชม ซัด”นายกฯ”ไร้วุฒิภาวะ เอื้อนายทุน ด้าน“เศรษฐา” ลั่นพร้อมให้ความกระจ่างการทำงานรัฐบาล ย้ำซื่อสัตย์ โปร่งใส ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง มั่นใจรัฐมนตรีพร้อมตอบทุกข้อสงสัย “ทวี”โต้ปมคุกทิพย์แจง'ทักษิณ'รับอานิสงส์รัฐบาลเก่าอนุมัติรักษาตัวโรงพยาบาล 

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 3 เม.ย.67 เวลา 08.00 น.  มีการหารือของคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ตัวแทนคณะรัฐมนตรี  วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน โดยมี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน เพื่อประชุมหารือเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 หลังวิปรัฐบาลเสนอปรับเวลาอภิปรายให้ฝ่ายค้านเหลือ 18 ชั่วโมง จาก 22 ชั่วโมง และรัฐบาล 10 ชั่วโมง จากเดิม 6 ชั่วโมง ซึ่งมีตัวแทนจากวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านเข้าร่วม โดยวิปฝ่ายค้านส่ง นายรังสิมันต์ โรม ,นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช เข้าร่วม

โดย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวในระหว่างหารือว่า หลังการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของ สว. พบว่า รัฐมนตรีมีเวลาชี้แจงน้อยไป เราจึงกลับมาทบทวน จึงอยากเรียนฝ่ายค้านว่า จริงๆ อยากให้เวลาสมดุล ระหว่างผู้ถามและผู้ตอบ ตามข้อบังคับ หากอภิปราย ถาม หรือซักรัฐมนตรีไป 10 กว่าชั่วโมง รัฐมนตรีตอบ 3 ชั่วโมง มันไม่สมดุล จึงคิดว่าการเหลื่อมเวลาให้สมดุล จะได้ยุติธรรมสำหรับรัฐมนตรี รัฐบาล และประชาชนจะได้รับข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายด้วย

ส่วน นายชัยชนะ ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าในตอนแรกฝ่ายค้านขอเวลาอภิปราย 3 วัน แต่ประธานวิปบอกว่า 2 วันเหมือนเดิม ซึ่งก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 6 ชั่วโมง ประธาน 2 ชั่วโมง เนื่องจากทุกคนเห็นว่าถ้ารัฐบาลตอบไม่พอก็อาจจะไปใช้เวลาของประธาน แต่หลังจากมีมติออกไป ตนก็เพิ่งทราบข่าวว่ารัฐบาลจะขอตัดเวลาฝ่ายค้าน 4 ชั่วโมง ถ้าสภาไม่มีหลักการ เลื่อนอยู่ตลอด ต่อไปก็เลื่อนได้ สภาก็ไม่มีหลักการ ที่นั่งทั้งหมดนี้ เราเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมาจาก 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่เราต้องทำงานร่วมกัน ถามว่าการชี้แจงของรัฐบาล 6 ชั่วโมง เพียงพอหรือไม่นั้น ถ้าให้เวลาพูดก็คงไม่มีใครพูดพอหรอก แต่รัฐบาลต้องไปหาวิธีชี้แจง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจให้ได้ ถ้ารัฐบาลจะขอเวลาชี้แจงเพิ่ม ก็ขยายเป็น 3 วันเลย ไม่ต้อง 2 วันหรอก ตามเหตุและผล ยึดหลักตามเดิมเถอะ

ด้าน นายพริษฐ์ กล่าวเสริมว่า ยืนยันว่าการตกลงระหว่างวิป 2 ฝ่าย ไม่ได้ประชุมกันคร่าวๆ แต่เป็นการลงรายละเอียด ออกเป็นบันทึกการประชุม นอกจากนี้ ก่อนที่จะได้ตัวเลขออกมา ที่ประชุมได้มีการย้อนดูว่าในอดีตใช้เวลาเท่าไร เข้าใจว่ามีข้อมูลใหม่เข้ามา จึงต้องทำให้จัดสรรเวลาเพิ่ม ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาจริงก็อยากให้แก้ไขให้ตรงจุด ถ้ารัฐบาลติดใจเรื่องเวลาไม่พอชี้แจง ก็ว่ากันไป ไม่ใช่มาลดเวลาฝ่ายค้าน และเราไม่มีปัญหา หากต้องเปิดอภิปรายเพิ่มอีกวัน

ทำให้ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวแย้งว่า หลังจากที่ได้ตกลงกัน พรรคร่วมรัฐบาลได้เห็นว่า เวลาไม่พอชี้แจง ซึ่งการไม่มีโอกาสได้ชี้แจง ก็เท่ากับเสียหาย วันนี้มาประชุมเพื่อหาทางออก ถ้าไม่ลดราวาศอก ไม่ปรับเข้ามาหาความสมดุล ถ้าตั้งป้อมแบบนี้ว่าจะเอา 22 ชั่วโมง ตนก็จะเอา 14 ชั่วโมง เดี๋ยวเข้าไปประชุมในห้องใหญ่แล้วโหวตกัน เราอยู่ด้วยกันอีก 4 ปี ยังต้องเจรจากัน ถ้าเป็นแบบนี้ก็รับไม่ได้เหมือนกัน หากตนกลับไป สมาชิกก็จะต่อว่า ย้ำว่าเราไม่ใช่ศัตรูกัน แต่หารือบนพื้นฐานข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกันของวิปทั้ง 3 ฝ่าย ว่า การอภิปรายวันแรกจะจบในเวลาตี 2 ส่วนในวันที่ 2 จะจบภายในเวลาเที่ยงคืน ถือว่าได้เวลาเพิ่ม 2 ชั่วโมง โดยฝ่ายค้านจะได้เวลา 22 ชั่วโมงเท่าเดิม ส่วนรัฐมนตรีก็ขอให้ตอบเต็มที่สิ้นกระแสความ ทั้งนี้ หากเป็นการถามตอบในที่ประชุมมาก ประธานสภาทั้ง 3 คน จะพยายามบริหารเวลา ส่วนเวลาที่เกินเลยไปทางประธานฯ จะพยายามบริหารให้การประชุมเรียบร้อย ทั้งนี้ รัฐมนตรี อาจมีเวลาชี้แจงถึง 10 ชั่วโมง ก็ได้ แต่ต้องจบภายใน 2 วัน แม้อาจจะเลยเวลานิดหน่อย เมื่อถามย้ำว่า วิปทั้ง 3 ฝ่ายตกลงกันได้แล้วใช่หรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า “ครับ”

 ต่อมา เวลา 09.30 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ที่ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับคณะ จำนวน 98 คน เป็นผู้เสนอ

โดย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวเปิดอภิปรายเป็นคนแรกเสนอญัตติในภาพรวม ว่า หลังการเลือกตั้งประชาชนต่างคาดหวังว่าเราจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ที่ต่างไปจากผู้นำหลังการรัฐประหาร แต่เวลาผ่านไปเรากลับได้นายกรัฐมนตรีที่ไร้วุฒิภาวะ หลายครั้งมีความสับสนว่าท่านเป็นใคร มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ขาดภาวะผู้นำในการสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนในทิศทางของรัฐบาล ซ้ำร้ายยังมีวิธีคิดในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเดิมๆ ที่จัดสรรตามโควต้า "สมบัติผลัดกันชม" แทนที่จะสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการเข้ามาบริหารกระทรวงต่างๆ เห็นหน้ารัฐมนตรีหลายคนหลังประกาศจัดตั้ง ครม. พี่น้องประชาชนสิ้นหวัง


เมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศมากว่าครึ่งปี ประชาชนก็คาดหวังที่จะได้เห็นนโยบายในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ปากท้องดีขึ้น แต่สิ่งที่ประชาชนพบ คือการดำเนินนโยบายที่สับสน คิดไป ทำไป นโยบายเรือธงของรัฐบาลขาดยุทธศาสตร์และแนวทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ตรงเป้าหมาย และแทนที่ประชาชนจะได้เห็นการบริหารราชการแผ่นดินที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก เสมอภาคเท่าเทียม เป็นธรรม เรากลับเห็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่เต็มไปหมด หลายนโยบายแอบอ้างประชาชนบังหน้า แต่เบื้องหลังเนื้อในกลับเต็มไปด้วยการฉ้อฉลเชิงนโยบาย เปิดทางให้รัฐมนตรีและพวกพ้องแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอย่างน่าละอาย

ประชาชนยังคาดหวังจะเห็นการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่ ตอนเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก็แถลงด้วยความมั่นใจว่าจะผลักดันให้เกิดการจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว วันนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้วยังคงวนไปวนมา ประชาชนไม่แน่ใจแล้วว่า ตกลงรัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อการปฎิรูปการเมือง การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนมีการวิเคราะห์กันว่าแม้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันจริงในรัฐบาลสมัยนี้ เราก็อาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แม้จะใหม่ แต่ก็ยังไม่ไว้วางใจประชาชนเหมือนเดิม นอกจากนี้ประชาชนยังคาดหวังว่าหลังมีรัฐบาลใหม่ จะได้เห็นการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเห็นการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับพบว่ากระบวนการนิติสงครามยังดำเนินต่อไปไม่ต่างจากหลังการรัฐประหาร สถานการณ์การปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นต่างในนามกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง สิทธิ เสรีภาพ ของสื่อมวลชนเริ่มมีสัญญาณว่าถูกคุกคามแทรกแซง

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ประชาชนคาดหวังจะเห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เห็นการฟื้นฟูนิติธรรม นิติรัฐ อย่างที่รัฐบาลแถลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นวิกฤตศรัทธาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในตำรวจรวมถึงในระบบราชการยังเต็มไปด้วยระบบตั๋ว ระบบส่วย จนพี่น้องประชาชนไม่สามารถไว้วางใจในกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ความเสมอภาคเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย และความเสมอภาคเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซ้ำเติมกระบวนการวิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
"ท่านไม่ต้องพูดว่าถ้าไม่ชอบกันก็ต่างคนต่างอยู่ เพราะพี่น้องประชาชนต้องการอยู่ในระบบเดียวกัน ต้องการอยู่ในประเทศเดียวกัน หนึ่งระบบที่พวกเราได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเสมอภาคกัน ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายฉบับเดียวกัน"  

นายชัยธวัช ยังอภิปรายต่อ ว่า หลังการเลือกตั้ง หลังมีรัฐบาลใหม่ ประชาชนคาดหวังจะเห็นระบบการเมืองที่นำพาชาติและประชาชนเดินไปข้างหน้า ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่สิ่งที่เราได้กลับกลายเป็น "ประชาธิปไตยแบบไหลย้อนกลับ" ที่ผู้นำทางการเมือง ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองลุแก่อำนาจ ได้คืบจะเอาศอก พยายามผูกขาดอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ในมือของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม แทนที่เราจะเห็นการยกระดับทางการเมืองเดินไปข้างหน้า เพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ เรากลับเจอกับการเมืองที่พยายามทำลายสิ่งใหม่ เพื่อรักษาสิ่งเก่า 

“สภาวะทั้งหมดที่ผ่านมาทำให้เราตกอยู่ในสภาพการเมืองที่ไร้ความสามารถในการตอบสนองกับความคิดแบบใหม่ๆ ของประชาชน ไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการแบบใหม่ในยุคสมัยใหม่ของประชาชน นี่คือสถานการณ์ที่พวกตนในฐานะผู้แทนราษฎร จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ตั้งคำถาม และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเพื่อนสมาชิกของพวกตนในพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมาอภิปรายลงลึกในรายละเอียดแต่ละประเด็นต่อไปตลอดการอภิปราย 2 วันนี้”

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจง ว่า ยินดีที่รับฟังทั้งจากส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมาตอบข้อสงสัย รัฐบาลจะพยายามตอบให้เกิดความกระจ่าง ในส่วนของข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จะนำไปปฏิบัติ ขอให้ใช้เวลา 2 วันนี้ อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งจากการเริ่มมาก็พูดแรงพอสมควร อาทิ สิ้นหวัง ล้มเหลว ไม่โปร่งใส ถอยหลัง วกวน แต่เชื่อว่าหลายอย่างที่รัฐบาลทำเพื่อให้เกิดแสงสว่างกับประชาชน ถ้ามีอะไรก็ขอให้บอกมา จากการทำงานมา 6 เดือน มั่นใจว่ารัฐบาลทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง 

ในเรื่องหนี้สิน มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขหนี้นอกระบบ รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย ประเด็นราคาพลังงานก็ดูแลราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล รวมถึงค่าไฟ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรื่องยาเสพติดก็มีการเดินหน้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ซึ่งไตรมาส 4 ปี 2566 จับยาบ้าได้มากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวก็มีการทำอีกหลายอย่าง รวมถึงวีซ่าฟรีไทย-จีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยจะยกระดับในเรื่องต่างๆ ต่อไป จะทำให้พาสปอร์ตไทยมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น 

สำหรับประเด็นรายได้พี่น้องเกษตรกร ตระหนักดี ส.ส.รัฐบาล 314 เสียง เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ยืนยันว่ารัฐบาลรับฟัง ซึ่งราคายาง ราคาข้าว และพืชผลอื่นๆ ก็ดีขึ้น ไม่มีการประท้วง อีกทั้งมีการเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งไม่เคยมีการทำมาก่อนในอดีตในการเรียกทูตพาณิชย์มาพูดคุยเพื่อผลักดันสินค้าไทย ส่วนเรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็มีการดำเนินการ พ.ร.บ.อากาศสะอาด แม้ว่า จ.เชียงใหม่ ฝุ่นยังสูงติดอันดับโลก แต่ปีนี้จุดความร้อนลดลงมากจากปีก่อน ย้ำว่าให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน 

ส่วนการกล่าวหาไม่มีตัวตนบนเวทีโลก ตนเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไป หลังรับตำแหน่งก็ต้องไปพบปะพูดคุย บางวงประชุมไม่ได้ไปมาแล้วกว่า 12 ปี การเจรจา FTA ก็ทำต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกเรื่องต้องใช้เวลา เพราะเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ 7 เดือน เชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาดี ถ้ามีข้อกล่าวหาก็ขอเหตุผลและหลักฐาน โดยหลังการเลือกตั้งประเทศก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยินดีรับข้อเสนอ และรัฐมนตรีทุกคนพร้อมชี้แจง 
จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ