ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกประชุมใหญ่ประจำปีของสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ หรือ FIAF Congress ฉลอง 40 ปีก่อตั้งหอภาพยนตร์ พร้อมฉายหนัง 3 เรื่องที่หาชมได้ยาก 21 – 26 เม.ย.
นายสมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) )ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมทุนวัฒนธรรมยกระดับเป็น Soft Power ของไทย โดยในส่วนของภาพยนตร์นั้น ล่าสุดทางหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่ประจำปีของสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ หรือ FIAF Congress ระหว่างวันที่ 21 – 26 เมษายน 2567 ณ หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับเกียรติในการจัดงานครั้งนี้ โดยงาน FIAF Congress จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน จากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นโอกาสสำคัญในโอกาสวาระครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งหอภาพยนตร์ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตและการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
งาน FIAF Congress 2024 จะเริ่มต้นวันที่ 21 เม.ย. ด้วยการฉายภาพยนตร์ 3 เรื่องจาก 3 ภูมิภาค ได้แก่ แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) ผลงานการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, เรื่องที่สอง Shaihu Umar ภาพยนตร์คลาสสิกปี 2519 จากประเทศไนจีเรีย ซึ่งเพิ่งค้นพบเมื่อปี 2559 และนำมาบูรณะใหม่จนสำเร็จ เรื่องสุดท้าย Camila ผลงานปี 2527 ของผู้กำกับหญิงชาวอาร์เจนตินา Maria Luisa Bemberg ซึ่งเป็นภาพยนตร์อาร์เจนตินาเรื่องที่ 2 ที่ได้รับคัดเลือกเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โปรแกรมฉายภาพยนตร์นี้เปิดให้ผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.fapot.or.th สอบถามรายละเอียดที่ที่ 02-482-2013 -15
สำหรับวันที่ 22 – 23 เม.ย. จะเป็นงานสัมมนา (Symposium) ในหัวข้อ “Film Archives in the Global South” นำเสนอหัวข้องานศึกษาและวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร ความท้าทาย และปัญหาของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ รวมไปถึงร่วมมือกันเพื่อการอนุรักษ์ภาพยนตร์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ส่วนวันที่ 24 – 25 เม.ย. เป็นงานประชุมสามัญประจำปีของสมาพันธ์ฯ และวันที่ 26 เม.ย. หอภาพยนตร์จะนำผู้เข้าร่วมงานประชุมเยี่ยมชมพื้นที่และศึกษางานอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ต่อไป
ทั้งนี้ FIAF หรือ International Federation of Film Archives เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2481 โดยเริ่มจากความร่วมมือของหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ 4 ชาติ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ และอเมริกา เพราะเห็นความสำคัญของภาพยนตร์ในฐานะวัตถุที่บันทึกความทรงจำ ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ รวมทั้งจินตนาการของมนุษยชาติ และเพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ไม่ให้สูญหายหรือเสื่อมสลายไป FIAF เติบโตและมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการตระหนักรู้ถึงความสำคัญในงานอนุรักษ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในขณะนี้มีสมาชิกจำนวน 94 หน่วยงานเป็น Full Member และอีก 80 หน่วยงานเป็นแบบสมทบ รวมทั้งสิ้น 174 หน่วยงาน โดยหอภาพยนตร์ได้รับสถานะสมาชิกของ FIAF ในปี พ.ศ. 2529 หรือ 2 ปีหลังการก่อตั้งทุกปีการประชุม FIAF Congress จะเวียนไปจัดตามประเทศชาติสมาชิกต่างๆ