ในวันที่ 23 เมษายน 2567 จะครบวาระที่ "นายนิรุฒ มณีพันธ์" นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ครบ 4 ปีเต็ม โดยกระบวนการล่าสุด มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจเลือกสรรหาคนที่เหมาะสมมาเป็นผู้ว่าการรถไฟฯ
ถือว่าเป็นตำแหน่งที่น่าจับตามอง เพราะเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของรัฐบาล ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการ "เมกะโปรเจกต์" และทิศทางระบบการขนส่งทางรางในอนาคตของประเทศ เป็นภาระวัดใจฝ่ายการเมือง จะเลือกคนแบบไหนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรมาเหล็กไปข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กระบวนการสรรหายังไม่แล้วเสร็จ เมื่อย้อนไทม์ไลน์ย่้อยไปไปในอดีต มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะในช่วงปลายปี 2562 หากจำกันได้ระหว่างมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ เพื่อหาคนที่เหมาะสมมารับเก้าอี้ แทน "นายวรวุฒิ มาลา" รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ที่รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2561 จนจะเกษียณอายุราชการ ในปี 2563
ขณะนั้นได้เกิดแรงต้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และพนักงานรถไฟอย่างแรง มีการพร้อมใจกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพนักงานรถไฟติดป้ายคัดค้านการสรรหาบุคคลภายนอกมานั่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรถไฟฯ ตามสถานีรถไฟต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพยายามเรียกร้องให้เลือก ผู้ว่าคนใหม่ที่มาจากคนในองค์กร เท่านั้น
แต่การต่อสู้ในครั้งนั้นไม่ประสบผล เพราะคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ได้ตัดสินใจเลือกบุคคลภายนอก "นายนิรุฒ มณีพันธ์" ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน เข้ามากุมบังเหียนการรถไฟฯ ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดในการสรรหา และเสนอผลการสรรหาให้คณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ด) พิจารณาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63
จนกลายเป็นประเด็นทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งภายนอกและภายใน รฟท. และมีคำถามตามมามากมายว่า ผู้สมัครที่มาจากคนนอกจะไหวเหรอ มีความรู้ ความสามารถดูแลองค์กรปราบเซียนอย่างการรถไฟฯ ได้แค่ไหน และอยากรู้ว่าแสดงวิสัยทัศน์ได้โดดเด่น รอบด้านเพียงใด จึงได้รับการคัดเลือกให้ได้คะแนนสูงสุด มากกว่าคนในที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทำงานในการรถไฟฯ มานาน
ดังนั้นช่วงแรกที่ผู้ว่าฯ คนนอกอย่างนายนิรุฒฯ เข้ามาทำงานที่การรถไฟฯ จึงถือเป็นด่านหิน เพราะทางหนึ่งก็ต้องทำงานให้ตอบโจทย์ฝ่ายนโยบายจากรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิสูจน์ความสามารถให้ได้รับการยอมรับจากพนักงานและลูกจ้างการรถไฟฯหลายพันคน กลายเป็นเผชิญศึกหนักทั้งภายนอกภายใน
ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงเข้ามารับตำแหน่งยังต้องเผชิญวิกฤต จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะขนานใหญ่ แถมยังต้องเข้ามาดูแลขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ การก่อสร้างรถไฟสายใหม่ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่สำคัญยังได้ดูแลปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร โดยเฉพาะปัญหาที่ดินเขากระโดงที่ลากยาวมาหลายสิบปี และพัวพันไปถึงนักการเมืองดัง ที่เป็นอดีตเจ้ากระทรวง แต่ทั้งหมดก็สามารถปิดจ็อบ ฟันฝ่าอุปสรรคลุล่วงด้วยดี
ดังนั้น ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของนายนิรุฒฯ ได้พิสูจน์ฝีมือตัวเองพอสมควร ในการดูแลงานนโยบายรัฐบาลให้เกิดความพึงพอใจ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น นายนิรุฒ ยังสามารถซื้อใจพนักงานและลูกจ้างภายในองค์กรได้สำเร็จ เห็นได้จากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่พร้อมใจกันทำป้ายไม่เอาผู้ว่าคนนอก มีการจับตามองว่าจะเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ แต่ในปัจจุบัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และพนักงานตามสถานีต่างๆ ทั่วประเทศ กลับร่วมแรงร่วมใจกัน ติดป้ายเชียร์นายนิรุฒ ให้อยู่ต่ออีก 1 สมัย ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และคงไม่ใช่การเล่นละครจำอวดหน้าม้าทำเอาใจนาย เพราะคงไม่มีใครไปบังคับให้สหภาพฯ และพนักงานรถไฟติดป้ายเชียร์ได้เกือบทุกสถานีทั่วประเทศแบบนี้
ท้ายที่สุดช่วงโค้งสุดท้ายของการสรรหานี้ คงต้องจับตามองไปที่ "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.คมนาคม ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หลังมีกระแสข่าวระบุว่า พยายามผลักดันคนจากหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่นายสุริยะ เคยเป็นรัฐมนตรีในสมัยที่แล้ว มาเป็นผู้ว่าการรถไฟฯคนใหม่ เพื่อให้สามารถควบคุมสั่งการได้อย่างสะดวก แต่ขณะที่นายนิรุฒ ผู้ว่าการรถไฟฯคนปัจจุบัน ก็ยังมีโอกาสได้ต่อวาระอีกสมัย
ทุกอย่างขึ้นกับฝ่ายการเมืองจะเจรจาตกลงกันอย่างไร เพราะเรื่องการขนส่งระบบรางถือเป็นจุดขายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะให้ใครมาลองผิด ลองถูกได้ และต้องไม่ลืมว่า การรถไฟฯ ยังมีโครงการมูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาทที่เตรียมประมูล ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 275,303.78 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท และแผนการจัดหารถจักร ล้อเลื่อน ได้แก่ รถโดยสาร 1,213 คัน รถสินค้า 946 คัน หัวรถจักร 50 คัน อดีตก็มีให้เห็นแล้วว่าการเมืองไม่เข้าใครออกใคร ผิดพลาดไปข้าราชการก็มีแต่จะเข้าคุกเข้าตารางกันเปล่าๆ ใครจะมาใครจะไปไม่เป็นไร ขอให้ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเท่านั้นพอ