SME D Bank จับมือ ม.ธรรมศาสตร์ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ไตรมาส 1/67 ภาพรวมปรับลดลงจากความกังวลผลประกอบการและสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลง ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่ม จากอานิสงส์เทศกาลท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ด้าน SME D Bank ประกาศพร้อมเติมทุนเสริมสภาพคล่อง หนุนบริหารจัดการต้นทุนได้เหมาะสม คู่พัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจ สามารถคว้าโอกาสเติบโตได้เต็มศักยภาพ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” และ “สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เปิดเผยถึงผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 1/2567 และคาดการณ์อนาคต” จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ  ไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 52.36 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 4/2566 ที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 67.81 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความกังวลผลประกอบการและสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยกดดัน ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว  และกำลังซื้อโดยรวมลดลง  

โดยเมื่อแยกพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว ยังมีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากไตรมาสที่ 1/2567 ยังคงเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเทศกาลสำคัญ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศต่อเนื่อง โดยประมาณ 60% เห็นว่าผลประกอบการจะดีขึ้น  ส่งผลให้สภาพคล่อง การลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ในขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างมีระดับความเชื่อมั่นลดลง และต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะมีความกังวลต่อต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้น  ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และต้นทุนพลังงาน ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 2/2567) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 57.41 เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลท่องเที่ยวต่อเนื่อง การบริโภคในประเทศดีขึ้น อีกทั้ง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคาดหวังจะได้เห็นความชัดเจนของนโยบายและได้รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ

นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวสรุปว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และความเชื่อมั่นที่แตกต่างกันของแต่ละอุตสาหกรรมจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะมากระทบ  เช่น อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ความเชื่อมั่นลดลงเนื่องจากขาดปัจจัยบวกที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรม   สวนทางกับภาคท่องเที่ยวที่คาดจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคว้าโอกาสเติบโตได้เต็มศักยภาพ พร้อมรับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ  SME D Bank  จัดเตรียมแนวทางสนับสนุนผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” โดยด้าน “การเงิน” มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อช่วยลดภาระ ผ่อนหนักเป็นเบา สามารถบริหารจัดการต้นทุนธุรกิจได้เหมาะสม เช่น สินเชื่อ “SME Refinance”   อัตราดอกเบี้ยปีแรกคงที่ 2.99% ต่อปี และช่วง 3 ปีแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี แถมปลอดชำระเงินต้นสูงสุดถึง 12 เดือน  นอกจากนั้น บริการด้าน “การพัฒนา” เช่น มีกิจกรรม Business Matching เพื่อเพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดใหม่ เป็นต้น รวมถึง มีแพลตฟอร์ม “DX by SME D Bank” (https://dx.smebank.co.th/)  ระบบ  e-Learning ช่วยเติมศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง 24 ชั่วโมง 

#SMEDBank #ดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี #ข่าววันนี้ #ธรรมศาสตร์ #สยามรัฐวันนี้