มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านควบคุมยาสูบ 10 จังหวัด ต้นแบบ(Mapping)บูรณาการร่วมปกป้องเด็กจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า นายกฯ สั่งกำชับ เร่งกวดล้างลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า พบเห็น แจ้งสายด่วน สคบ. 1166 สายด่วนของภาครัฐทุกช่องทาง แอปพลิเคชัน Traffy Fondue พร้อมเร่งให้ความรู้ เด็ก เยาวชน ครู ผู้ปกครองรู้เท่าทันอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ 
  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับ “ภาคีเครือข่ายด้านควบคุมยาสูบ 10 จังหวัดต้นแบบ (Mapping)ได้ร่วมกันจัดสัมนาบูรณาการงานร่วมปกป้องเด็กจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับจังหวัด 
   

 โดยมีเป้าหมายร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ขับเคลื่อนงานด้านนี้อย่างเข้มแข็ง 100 คน จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ 
 

   โดยนายวราวุธ ยันต์เจริญ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้แทน ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน   กล่าวว่า " การจัดสัมมนาภาคีเครือข่ายด้านควบคุมยาสูบ 10 จังหวัดต้นแบบ (Mapping)  บูรณาการงานร่วมปกป้องเด็กจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่พวกเราจะได้ช่วยกันสื่อสารไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  
 

   โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และให้ความใส่ใจบุตรหลานหากพบเห็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ช่วยกันตักเตือน เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและทำลายพัฒนาการทางสมอง 
   

 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อการระบาดและการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย และได้สั่งการและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อกวาดล้างและปราบปรามอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการลักลอบจำหน่ายให้กลุ่มเด็กและเยาวชน  จากการลงพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ  
 

พบว่ามีร้านค้าหลายร้านตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา อีกทั้งยังเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน
   

 นอกจากนี้ ยังพบว่าตัวบุหรี่ไฟฟ้ามีการปรับรูปแบบให้ดึงดูดใจ มีรูปลักษณ์เป็นตัวการ์ตูนสีสันสวยงาม “ภัยของบุหรี่ไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เราพบกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี
     และยังสืบทราบมาว่ามีการนำไปขายในสถานศึกษา โดยเด็กและเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง 
     จึงขอความร่วมมือทั้งผู้ปกครอง และสถานศึกษา หากพบเห็นการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ขอความร่วมมือให้แจ้งหน่วยงานรัฐ ทั้งทาง สายด่วน สคบ. 1166 ทางเว็บไซต์ OCPB.go.th เฟซบุ๊ก สืบนครบาล IDMB แอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสายด่วนของภาครัฐทุกช่องทาง  
   

 ซึ่งต่อจากนี้ สคบ. จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับรวมถึงท้องถิ่น บังคับใช้กฎหมายกวาดล้างสินค้าเหล่านี้ให้หมดไป พร้อมกับสร้างมาตรการป้องกัน สร้างการรับรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะป้องกันได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับผู้ประกอบการที่ยังลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขอให้เลิกขายอย่างเด็ดขาด หากพบเห็น สคบ. จะดำเนินคดีกับผู้ขายและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อปกป้องคุ้มครอง เด็ก และเยาวชน รวมทั้งนักท่องเที่ยว จากมหันตภัยพิษร้ายจากบุหรี่ไฟฟ้า” นายวราวุธ กล่าว
   

 ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า " จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี 6,700 คน ในโรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบเยาวชนสูบบุหรี่ร้อยละ 3.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น 
   

 จากสถานการณ์นี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน รวมถึงครูและผู้ปกครอง จะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน 
   

 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา "
    ด้าน นายพิทยา จินาวัฒน์  คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  " สสส. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นขับเคลื่อนการทำงานเพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนกลไกการทำงานของเครือข่ายทุกภาคส่วนในการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ในปี 2567 สสส. มุ่งเน้นการดำเนินงาน 1.สร้างเสริมความรอบรู้ สร้างการรับรู้ และความตระหนักให้เด็ก เยาวชน ครู และผู้ปกครองรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า 2.สนับสนุนมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 3.รณรงค์ สื่อสารในประเด็นอันตรายและผลกระทบทางสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คลิปวิดีโอ สื่อโฆษณา Infographic หนังสือภาพสำหรับเด็ก เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า”
   

 น.พ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า " จากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน คสช. จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายภายใต้เครื่องมือกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ให้เกิดนโยบายและการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะสร้างกระแสสังคม ทั้งสองแนวทางจะเป็นการสะท้อนเสียงของสังคมต่อรัฐบาล ให้ยังคงนโยบายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า "
     

น.พ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า " กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยผ่านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ การสร้างการรับรู้โทษพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า การเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และการยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า "
   

 นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า " สถานการณ์จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยในขณะนี้ นับว่าทวีความรุนแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการมุ่งเป้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กและเยาวชน ลุกลามไปถึงนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา และปรากฏร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษาทั่วทุกพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะข้อมูลการสำรวจร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ ยท. ปี 2567 พบร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า 72 ร้าน ในจำนวนนี้มีถึง 51 ร้าน ที่เปิดร้านจำหน่ายใกล้สถานศึกษา หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนร้านทั้งหมด หากเจาะลึกถึงตัวเครื่องบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จะพบว่าทั้งกลิ่นหรือรสชาติออกแบบมาให้เป็นกลิ่นที่เด็กและเยาวชนมีความคุ้นเคย เช่น กลิ่นนมช็อคโกแลต กลิ่นน้ำอัดลมยี่ห้อต่าง ๆ หรือแม้แต่กลิ่นหรือรสชาติผักผลไม้ ที่ชวนเชื่อว่ารสชาติเหล่านี้ผลิตจากธรรมชาติ ทั้งนี้ ยท. ขอยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยอันตรายทั้งต่อผู้สูบ ชุมชน และครอบครัว ซึ่งเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ กลับต้องหยุดหรือพัฒนาทางสมองช้าลง
     

จากสารนิโคติน รวมถึงพฤติกรรมการเสพติดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในอนาคตอีกด้วย "