วันที่ 3 เม.ย.67 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับคณะ จำนวน 98 คน เป็นผู้เสนอ
โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้ายในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวเปิดอภิปรายเป็นคนแรกเสนอญัตติในภาพรวม ว่า หลังการเลือกตั้งประชาชนต่างคาดหวังว่าเราจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ที่ต่างไปจากผู้นำหลังการรัฐประหาร แต่เวลาผ่านไปเรากลับได้นายกรัฐมนตรีที่ไร้วุฒิภาวะ หลายครั้งมีความสับสนว่า ท่านเป็นใคร มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ขาดภาวะผู้นำในการสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนในทิศทางของรัฐบาล ซ้ำร้ายยังมีวิธีคิดในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเดิมๆ ที่จัดสรรตามโควต้า “สมบัติผลัดกันชม” แทนที่จะสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการเข้ามาบริหารกระทรวงต่างๆ เห็นหน้ารัฐมนตรีหลายคนหลังประกาศจัดตั้ง ครม. พี่น้องประชาชนสิ้นหวัง
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวตจ่อว่า เมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศมากว่าครึ่งปี ประชาชนก็คาดหวังที่จะได้เห็นนโยบายในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ปากท้องดีขึ้น แต่สิ่งที่ประชาชนพบ คือการดำเนินนโยบายที่สับสน คิดไป ทำไป นโยบายเรือธงของรัฐบาลขาดยุทธศาสตร์และแนวทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ตรงเป้าหมาย และแทนที่ประชาชนจะได้เห็นการบริหารราชการแผ่นดินที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก เสมอภาคเท่าเทียม เป็นธรรม เรากลับเห็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่เต็มไปหมด หลายนโยบายแอบอ้างประชาชนบังหน้า แต่เบื้องหลังเนื้อในกลับเต็มไปด้วยการฉ้อฉลเชิงนโยบาย เปิดทางให้รัฐมนตรีและพวกพ้องแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอย่างน่าละอาย
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ประชาชนยังคาดหวังจะเห็นการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐบาลชุดใหม่ ตอนเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก็แถลงด้วยความมั่นใจว่าจะผลักดันให้เกิดการจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว วันนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้วยังคงวนไปวนมา ประชาชนไม่แน่ใจแล้วว่า ตกลงรัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อการปฎิรูปการเมือง การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนมีการวิเคราะห์กันว่าแม้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันจริงในรัฐบาลสมัยนี้ เราก็อาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แม้จะใหม่ แต่ก็ยังไม่ไว้วางใจประชาชนเหมือนเดิม นอกจากนี้ประชาชนยังคาดหวังว่าหลังมีรัฐบาลใหม่ จะได้เห็นการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเห็นการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับพบว่ากระบวนการนิติสงครามยังดำเนินต่อไปไม่ต่างจากหลังการรัฐประหาร สถานการณ์การปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นต่างในนามกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง สิทธิ เสรีภาพ ของสื่อมวลชนเริ่มมีสัญญาณว่าถูกคุกคามแทรกแซง
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ประชาชนคาดหวังจะเห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เห็นการฟื้นฟูนิติธรรม นิติรัฐ อย่างที่รัฐบาลแถลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นวิกฤตศรัทธาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในตำรวจรวมถึงในระบบราชการยังเต็มไปด้วยระบบตั๋ว ระบบส่วย จนพี่น้องประชาชนไม่สามารถไว้วางใจในกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ความเสมอภาคเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย และความเสมอภาคเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซ้ำเติมกระบวนการวิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
“ท่านไม่ต้องพูดว่าถ้าไม่ชอบกันก็ต่างคนต่างอยู่ เพราะพี่น้องประชาชนต้องการอยู่ในระบบเดียวกัน ต้องการอยู่ในประเทศเดียวกัน หนึ่งระบบที่พวกเราได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเสมอภาคกัน ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายฉบับเดียวกัน” ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว
นายชัยธวัช ยังอภิปรายต่อไป ว่าหลังการเลือกตั้ง หลังมีรัฐบาลใหม่ ประชาชนคาดหวังจะเห็นระบบการเมืองที่นำพาชาติและประชาชนเดินไปข้างหน้า ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่สิ่งที่เราได้กลับกลายเป็น “ประชาธิปไตยแบบไหลย้อนกลับ” ที่ผู้นำทางการเมือง ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองลุแก่อำนาจ ได้คืบจะเอาศอก พยายามผูกขาดอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ในมือของชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม แทนที่เราจะเห็นการยกระดับทางการเมืองเดินไปข้างหน้า เพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ เรากลับเจอกับการเมืองที่พยายามทำลายสิ่งใหม่ เพื่อรักษาสิ่งเก่า
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่างทิ้งท้ายว่า สภาวะทั้งหมดที่ผ่านมาทำให้เราตกอยู่ในสภาพการเมืองที่ไร้ความสามารถในการตอบสนองกับความคิดแบบใหม่ๆ ของประชาชน ไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการแบบใหม่ในยุคสมัยใหม่ของประชาชน นี่คือสถานการณ์ที่พวกตนในฐานะผู้แทนราษฎร จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ตั้งคำถาม และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเพื่อนสมาชิกของพวกตนในพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมาอภิปรายลงลึกในรายละเอียดแต่ละประเด็นต่อไปตลอดการอภิปราย 2 วันนี้