เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2567 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ
หน้าชากับทางออกใหม่แจกเงินหมื่น !
ไม่ต้องถึงวันฤกษ์ดี 10 เมษายน 2567 ก็พอรู้แล้วว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินหัวละ 10,000 บาทรวม 5 แสนล้านบาทจะไปหนใด เมื่อคณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางปี 2668 - 2571 ฉบับทบทวนตามที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเสนอ
สาระสำคัญคือให้งบประมาณรายจ่ายปี 2568 เป็นงบประมาณขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 1.572 แสนล้านบาท หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีมติให้สำนักงบประมาณนำร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไปปรับแก้มาใหม่ ทำให้รู้ได้ชัดแล้วว่าร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่สำนักงบประมาณจะเสนอกลับมายังคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าวันที่ 9 เมษายน 2567 และจะเข้าพิจารณาในสภาผู้แจะแทนราษฎรวาระแรกในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 จะมีตัวเลขที่ 3.75 ล้านล้านบาท ขาดดุลพุ่งขึ้นไปสูงถึง 8.65 แสนล้านบาท
แปลความว่าต้องกู้มาปิดหีบงบประมาณทั้งหมดตามยอด 8.65 แสนล้านบาทนี้ เพียงแต่เป็นการกู้เงินในงบประมาณตามปกติ กู้มาแล้งก็ส่งคลัง ไม่ใช่ออกกฎหมายพิเศษกู้เงินมาใช้ตามโครงการโดยเฉพาะ
เป็นอันว่ารัฐบาลเลิกคิดใช้ “เงินนอกประมาณ” โดยการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินทั้งก้อน 5 แสนล้านบาทแน่ !
โดยจะหันกลับมาใช้ “เงินในงบประมาณ” จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เป็นหลัก
แต่คงไม่พอ
เพราะน่าจะได้รวมกันราว ๆ 3 - 3.5 แสนล้านบาท !
ที่ขาดอีกราว 1.5 - 2 แสนล้านบาท ยังมีคำถามว่าจะใช้วิธีออกกฎหมายพิเศษกู้เงินมาสมทบ หรือจะใช้จากงบประมาณปี 2567
คาดว่ารัฐบาลคงไม่ใช้วิธีการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินมาสมทบ แต่คาดว่าจะผสมผสานกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ผ่านสภาไปแล้ว
โดยแปลงมาจาก “งบกลาง” !
หรือจากส่วนอื่น ๆ อีก
ถ้าเป็นจริงตามคาดนี้ ย้ำนะครับว่าถ้า ส่วนที่จะมาผสมผสานจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประมาณ 1.5 - 2 แสนล้านบาทนี่แหละครับที่น่าพิจารณา !
โดยส่วนตัวผมเองนั้นมีจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่าไม่สนับสนุนการจัดทำโครงการแบบออกกฎหมายพิเศษกู้เงินแล้วใช้เงินกู้นั้นไปในโครงการเลยโดยไม่ส่งคลังตามปกติ คัดค้านมาตั้งแต่ยุคไทยเข้มแข็ง 2552 โครงสร้างพื้นฐาน 2555 - 2556 มาจนดิจิทัลวอลเล็ตภาคก่อนหน้านี้ที่คิดจะออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนอกงบประมาณ พูดง่าย ๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับ “วิธีการ” เป็นหลักเป็นสำคัญ ในขณะที่ส่วน “ตัวโครงการ” นั้นผมไม่ค่อยได้แสดงความเห็นนัก ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ผมเห็นว่าเป็นประเด็นรองและมีผู้รู้ผู้สนใจให้ความเห็นกันมากแล้วในแทบทุกแง่ทุกมุม
หนึ่งในเหตุผลอันเป็นหลักการสำคัญที่ผมเชื่อเช่นนั้นก็คือหากเป็นเงินในงบประมาณ บรรจุอยู่ในร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องผ่านการพิจารณาตัดสินจากรัฐสภา ถูกต้องตรงตามหลักการแล้ว
เพราะฉะนั้น ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไม่มีปัญหาในเรื่องวิธีการ เพราะจะต้องพิจารณากันในรัฐสภา
ตรงข้ามกับในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 สมาชิกรัฐสภาจากทั้ง 2 สภาไม่ได้พูดไม่ได้ถามไม่ได้อภิปรายและไม่ได้พิจารณาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเลยแม้แต่น้อย
ก็เพราะมันไม่มีอยู่ในร่างกฎหมายน่ะสิ
ไม่มีชื่อโครงการอยู่ในเอกสารทั้ง 2 ลังที่พวกเราได้รับ
ถามว่ารัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจแปลงงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภามาใช้แตกต่างออกไปได้มััย
ตอบได้กว้าง ๆ ว่าทำได้
และโดยหลักการก็ต้องอนุญาตให้ทำได้ เพราะรัฐบาลอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นจริง ต้องให้เครื่องมือเพื่อนำพาประเทศได้ฝ่าฟันนานาปัญหาที่อาจเกิดโดยไม่คาดคิดได้
ทั้งนี้ ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด
แต่ก็นั่นแหละ rule (รูล)ในหลายกรณีก็กลายเป็น roo (รู) ได้
ในฐานะคนที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาและได้ยกมืออนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มาหมาด ๆ ถ้าหนทางของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นไปตามนี้มันก็อด “หน้าชา” ขึ้นมาเล็ก ๆ ไม่ได้
รู้สึกประมาณเหมือนถูก “ตบหน้า“ เบา ๆ น่ะ
จะใช้เวทีวุฒิสภาถกแถลงตรวจสอบใด ๆ ก็ไม่ถนัด เพราะกว่าจะถึง 10 เมษายน 2567 ที่คาดว่ารัฐบาลจะแถลงให้ชัดเจนขึ้น ก็อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมเสียแล้ว
จริง ๆ ถ้ารัฐบาลจะไม่หลงทางเฉไปทางคิดแต่จะออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนอกงบประมาณมาใช้ทั้งก้อน 5 แสนล้านบาทมิใยที่ใครจะชี้ให้เห็นว่ามันไปยากเพราะขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลังมาตรา 53 แล้วตั้งยอดมาในร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตั้งแต่ต้นสัก 1.5 - 2 แสนล้านบาทเพื่อไปรวมกับอีกส่วนหนึ่งที่จะไปตั้งไว้ในร่างกฎหมายงบประมาณนายจ่ายประจำปี 2568 แล้วแถลงตรงไปตรงมาเสียก็สิ้นเรื่อง นายกรัฐมนตรีก็เป็นประธานกรรมการวินัยการเงินการคลังอยู่ จะปรับแก้แผนอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยายก็สามารถทำได้ ดังเช่นที่ทำอยู่วันสองวันนี้ เพื่อให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขาดดุลเพิ่มขึ้น เพื่อเอาเงินมาใช้ในโครงการโดยอธิบายต่อรัฐสภาให้ชัดเจน
แต่ก็ดื้อไง แข็งขันว่าจะออกกฎหมายพิเศษกู้เงินทั้งก้อน 5 แสนล้านบาท
สุดท้ายก็ดื้อได้ไม่ตลอด ก็เจอทั้งความเห็นกฤษฎีกา รายงานป.ป.ช. รายงานสตง.
วีระ ธีรภัทร หรือ “อาจารย์วีระ” นักจัดรายการผู้เป็นกูรูทางเศรษฐกิจรุ่นน้องสวนกุหลาบของผมเคยกล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ประมาณว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ทริคกี้ (Tricky) นิด ๆ เซ็กซี่ (Sexy) โรแมนติก (Romantic) เป็นบ่อเกิดการโต้แย้ง (Controversial) และแฝงเร้นความสุ่มเสี่ยงหรือเสี่ยงภัย (Adventurism)
ก่อนท่านจะตบท้ายว่านิสัยหรือจริตของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
จริงแฮะ !
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา