ในช่วงสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งในระยะนี้  ได้ส่งผลให้ไร่อ้อยในพื้นที่หมู่ 4 บ้านลาหงา  ตำบลละงู  อำเภอละงู จังหวัดสตูล  มีรสชาติที่หวานหอมและพร้อมจะบริโภค  สู่ตลาดที่มีความต้องการในระยะนี้เพื่อดื่มคลายร้อน

นายเจ๊ะหยัน   ลัดเลีย  วัย 74 ปี เปิดเผยว่า  ทำมาแล้วหลายอาชีพ  ทั้งประมงและทัวร์นำเที่ยว  แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต  เมื่อหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำไร่อ้อยแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่โดดเด่น   แต่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้  โดยตัดสินใจโค่นต้นยางพารา 7 ไร่  เพื่อปลูกอ้อยพันธุ์  สายน้ำผึ้งนานร่วม 12 ปี  ด้วยรสชาติอร่อย  หอม  หวาน  ขายได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน  ยอดสั่งซื้อจะดีมากหลายเท่าตัว   

การปลูกอ้อยสำหรับคุณลุงเจ๊ะหยัน  จะปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตนานถึง 7 ปี จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับไผ่  เพียงตัดให้เหลือหน่อไว้   การดูแลให้ปุ๋ย  บำรุงดิน  และตกแต่งพันธุ์อ้อยให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  ตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่นิยมซื้อเป็นลำเพื่อไปขายต่อ  และสั่งเป็นน้ำอ้อยที่คั้นสำเร็จรูปก็สร้างรายได้อย่างงามให้กับครอบครัวของคุณลุงเจ๊ะหยัน

วิธีการเลือกต้นอ้อยที่สามารถตัดขายได้ต้องอายุ 8 เดือนขึ้นไป เลือกสีลำอ้อยที่น้ำตาลแก่เข้ม ลูกค้าจะจะมาซื้อเป็นลำวันละ 400-600 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 6 บาท หากทำเป็นน้ำอ้อยคั้นขายวันละ 200 ถุงจำหน่ายถุงละ 7 บาทหากเป็นขวดละ 10 บาท    สำหรับพื้นที่หมู่ 4 บ้านลาหงา  จะปลูกต้นอ้อยไม่น้อยกว่า  200 ไร่ เฉลี่ยเจ้าละประมาณ 3 ไร่ โดยอ้อยที่ปลูกพันธุ์สายน้ำผึ้งจะมีเปลือกที่บาง ลูกค้าจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มาหาซื้ออ้อยจากที่นี่

นายเจ๊ะหยัน   ลัดเลีย  วัย 74 ปี  บอกด้วยว่า   โดยอ้อยพันธุ์นี้มีรสชาติหวานหอม  ก่อนหน้านี้เคยปลูกพันธุ์สิงคโปร์ช่วงหลังๆไม่ได้รับความนิยม  การปลูกอ้อยอยู่ที่การดูแลบางคนปลูก 1 ปีหรือ 2 ปีก็ผ่านพ้นไม่ได้ตกแต่งดูแล สำหรับของป๊ะดูแลพันธุ์อ้อยเพียงครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ 6-7 ปี สร้างรายได้ปีละแสนบาท  อนาคตอยากจะกระตุ้นให้ลูกหลานเดินตามรอยแปรรูปและส่งเสริมการปลูกอ้อยเป็นสินค้า OTOP จากอ้อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหมู่บ้านเรา  หากสนใจติดต่อมาช่องทางเบอร์โทร 082-4283950

นายวิทวัส เกษา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านลาหงา  บอกว่า  ก่อนหน้านี้จะมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ในช่วงนั้นต้นปาล์มยังเล็กอยู่ก็มีการนำอ้อยมาปลูกเสริม  ในช่วงแรกๆก็จะเป็นการเร่ขายภายในหมู่บ้าน  หลังจากนั้นก็มีเพื่อนบ้านต่างจังหวัดเข้ามาซื้อ  วันละหลายตัน  ในขณะนั้นก็จะมีเพียง 5-6 เจ้าเท่านั้น แล้วปัจจุบันก็มีหลายร้อยไร่  ตอนนี้ 10 กว่าเจ้าภายในหมู่บ้านขายตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำขายน้ำอ้อย  

  นางสาวมนัสนันท์   นุ่นแก้ว  เกษตรอำเภอละงู  บอกว่า  จากลงพื้นที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอละงูจะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย  สำหรับพื้นที่ตรงนี้  หมู่ที่ 4 บ้านลาหงา  มีการปลูกอ้อยร้อยกว่าไร่ กับเกษตรกร 20 กว่าราย  จะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจดวิสาหกิจชุมชนโดยทางเกษตรอำเภอละงู  จะเข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่ม  การแปรรูป  เท่าที่ดูกลุ่มนี้ก็มีการแปรรูปเบื้องต้น ทั้งแปรรูปเป็นน้ำอ้อย และน้ำตาลอ้อย อาจจะมีการต่อยอดให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น