Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ A และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ระบบการเงินมีเสถียรภาพ และมีความยืดหยุ่นต่อการรับมือจากผลกระทบภายนอก (External Shocks) โดยเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในปี 2567 จากการส่งออกภาคบริการและการบริโภคของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดที่ลดลง และประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น
2) รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเน้นความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สำคัญ อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Hub) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Supply Chain) อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3) เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตที่ร้อยละ 1.9 จากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศนำเข้าชะลอตัว ทั้งนี้ การนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการมีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2566 สัดส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการมีสัดส่วนถึงร้อยละ 65 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อย่างไรก็ดี รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตที่ร้อยละ 2.2 – 3.2 ภายใต้สมมุติฐานว่าการส่งออกสินค้าฟื้นตัว การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัว ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
4) รัฐบาลยังคงรักษาระดับฐานะการคลังให้อยู่ในระดับดี (Good Fiscal Position) แม้ต้องกู้เงินจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระยะที่ผ่านมา ทำให้ต้องปรับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 62.4 และรัฐบาลจะยังสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ได้ นอกจากนี้ หนี้สาธารณะส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ในประเทศและสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4
5) ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุลในปี 2566 และ JCR คาดว่า ในปี 2567 จะยังคงเกินดุลต่อเนื่องอีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและสามารถรองรับผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอก (External Shocks) ได้
#หนี้สาธารณะ #ภาษี #จีดีพี #ข่าววันนี้ #สยามรัฐวันนี้