วันที่ 2 เมษายน 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan: NAP) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณาการประเด็นการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์รายสาขาและในระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างภูมิคุ้มการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเสริมสร้างศักยภาพและความตระหนักรู้ของภาคีการพัฒนาในทุกระดับ และการพัฒนาข้อมูล งานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี กำหนดเป้าหมาย แนวทางและมาตรการ รายสาขา 6 สาขา ได้แก่ การจัดการทรัพยากรน้ำ  การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะมีรายละเอียดข้อมูลสภาวการณ์ การคาดการณ์แนวโน้มความเสี่ยง ผลกระทบ และพื้นที่เสี่ยงแต่ละรายสาขา พร้อมทั้งมีกรอบแนวทางการติดตามและประเมินผล โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยประสานแต่ละรายสาขา 6 สาขา และรายงานต่อกลไกคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทบทวนผลการปรับตัวฯ ทุก 5 ปี 

แผน NAP นี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Global Goal on Adaptation: GGA) และการทบทวนสถานการณ์ และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส อีกทั้งจะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยการดำเนินงานหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ จะนำส่งแผนการปรับตัวฯ ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ต่อไป 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญกับความร้อนที่มีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีปัญหาสุขภาพ รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหานี้และมีความห่วงใย จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี  อีกทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนที่พวกเราจะไม่สามารถรับมือได้