วันที่ 2 เม.ย.2567 เวลา 10.45 น.ที่รัฐสภา นายประพันธ์ คูณมี สว. กล่าวว่า แม้ว่าการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติแต่มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่สว.อภิปรายไปแล้วเช่น 1.เรื่องปัญหาที่ดินสปก.เปลี่ยนเป็นโฉนด และการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินของรัฐบาลน่าจะมีปัญหาทั้งที่ผิดกฎหมายและส่อไปในทางทุจริตในหลายเรื่อง สิ่งที่ตนอภิปรายนำร่องไปก่อนเชื่อว่าสส.น่าจะไปทำการบ้านต่อเพราะส่อไปในทางทุจริตอย่างไร และมีการออกระเบียบผิดต่อกฎหมายอย่างไร และ 2.เรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติน่าจะเป็นเรื่องร้อน นายกฯคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เพราะเป็นประธานก.ตร.และปัญหาก็คงไม่จบอยู่แค่เรียกผบ.ตร.และรองผบ.ตร.มาประจำสำนักนายกฯเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ส่อทุจริตและผิดกฎหมายเพราะฉะนั้นการรับเงิน การรับส่วย หรือธุรกิจพนันออนไลน์ เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอยู่ที่ท่าทีนายกฯ ถ้าฝ่ายค้านทำงานเข้มแข็งเขาก็ต้องเจาะลึกในเรื่องนี้ เพื่อชี้ให้ประชาชนเห็นว่าทำให้เกิดความเสียหายในการบริหารราชการบ้านเมืองอย่างไร
และ 3.เรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 4. เรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ถ้าผู้อภิปรายมีข้อมูลชี้ให้เห็นว่าคนในรัฐบาลมีอะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ได้เสีย ทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือเสียประโยชน์หรือไม่ อันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่เหมือนกัน เพราะว่าพื้นที่ทับซ้อนมีไม่กี่ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเอาอาณาเขตของเราเอาไปผนวกตีความกลายเป็นเขตทับซ้อนต้องมาเจรจากันด้วยจะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล เพราะว่าพื้นที่บริเวณนี้มีที่เดียวที่มีแหล่งน้ำมันไม่เหมือนอ่าวไทยที่มีแก๊ส น้ำมันมีน้อย แต่พื้นที่ตรงนี้น้ำมันมีเยอะ มีทั้งแก๊ส และน้ำมัน
“ผมคาดหวังว่าการอภิปรายของสส.จะได้แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ และการเอาจริงเอาจังกับการอภิปรายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และจะทำให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติต่อไป ผมคิดว่าถ้าเขาเอาข้อมูลในเชิงลึกมาอภิปราย แม้จะไม่มีการลงมติ ผมคิดว่าการแสดงสปิริตและความรับผิดชอบทางการเมือง สามารถชี้ประเด็นและประเด็นให้เห็น นำตัวเลขมาแสดงเลย อย่างเรื่องที่ดินสปก.มีกลุ่มทุนไปถือที่ดินสปก.หลายหมื่น หลายแสนไร่ และอยู่ในพื้นที่สวยงาม ถ้านำรายชื่อมาแสดง มีบริษัทไหนบ้าง กลุ่มทุนไหนบ้างมาแสดงให้เห็น รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ และการรับส่วยเป็นความผิดส่วนบุคคลในวงการตำรวจ เรื่องสปก.เป็นความผิดของคนในวงการรัฐบาล
ถ้าสส.สามารถอภิปราย และให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน และชี้ให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาด หรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้ไม่ได้ลงมติก็พ่ายแพ้ทางการเมืองได้ ประชาชนก็ไม่เชื่อถือ ศรัทธา และกลายเป็นกระแสเผยแพร่ต่อไป รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเอง” นายประพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่าสส.เพื่อไทยแสดงความปกป้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯตั้งแต่ยังไม่ได้อภิปราย นายประพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่แน่ใจว่าพรรคก้าวไกลจะอภิปรายนายทักษิณจริงจังแค่ไหน แต่เชื่อพรรคประชาธิปัตย์น่าจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่า ยิ่งรัฐบาลออกมาปกป้องนายทักษิณก็เสียเอง เพราะขณะนี้ก็จ้องไปที่รัฐบาลว่าเป็นผู้ทำลายหลักนิติธรรมเสียเอง เพราะแถลงนโยบายว่าจะปกป้องหลักนิติธรรมให้มีความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศต่อนักลงทุน แต่ความจริงการกระทำของรัฐบาลเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่ก็จะเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านอาจจะยกขึ้นมาอภิปราย ถ้ามีการอภิปรายลงลึกที่จะไปเอื้อประโยชน์ให้คนๆเดียว ก็จะเป็นปัญหาได้