วธ.จัดยิ่งใหญ่งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เชิญชวนชาวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ทั่วไทยอย่างสนุกสนานสร้างสรรค์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดแถลงข่าวกันไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน กล่าวว่า สวธ.ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 เพื่อฉลองวาระสำคัญ “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้แก่ จัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศ จำนวน 4 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส และกำลังดำเนินการจัดทำภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
สำหรับสวธ.ได้จัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในช่วงเดือนเมษายน ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต โดยเริ่ม Kick off ที่จ.เชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. อาทิ กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล
ส่วนกลาง จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมสืบสานคุณค่าอัตลักษณ์ความงามของประเพณี ประกอบด้วย งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ในวันที่ 10 เม.ย. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานนิทรรศการ “สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ระหว่าง 10 – 12 เม.ย. ณ ลานกลางแจ้ง หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ปทุมวัน กิจกรรมงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ระหว่าง 12 – 15 เม.ย. เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ (พิธีเปิด 13 เม.ย. เวลา 14.00 น. ณ พระวิหารหลวง) สรงน้ำพระพุทธรูปและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด การแสดงตำนานนางสงกรานต์ ประกวดก่อพระเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตทางวัฒนธรรม ซุ้มอาหารคาว-หวานมากมาย ฯลฯ นอกจากนี้ได้ร่วมกับสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เครือข่ายวัฒนธรรมกทม. จัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ ประกอบด้วย “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็นเป็นสนุก” วันที่ 13 – 15 เม.ย. สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม. “เพลิดพราว ดาวสงกรานต์ ความงามในตำนานแห่งถนนสีลม” วันที่ 15 – 16 เม.ย. ถนนสีลม เขตบางรัก กทม. ฯลฯ
ส่วนภูมิภาคที่สวธ.ร่วมกับจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ กิจกรรมทางวัฒนธรรมวิถีล้านนา ณ ข่วงเมืองต่างๆ ระหว่าง 4 - 21 เม.ย. กิจกรรม ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 13 – 16 เม.ย. ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ (13 เม.ย.) สักการะพระพุทธสิหิงค์ยามค่ำคืน การแสดงการแสดงตำนานสงกรานต์ (14 เม.ย.) ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 700 ปี) ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย ณ ประตูท่าแพ เป็นต้น
ขอนแก่น ประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี ระหว่าง 13 – 15 เม.ย. งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น ณ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น 11 – 15 เม.ย. งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว พิธีเปิด 15 เม.ย. แสดงตำนานนางสงกรานต์ กิจกรรมวันข้าวเหนียวครอบครัวเดียวกัน และคลื่นมนุษย์ (Human Wave) ณ ถนนข้าวเหนียว พลาดไม่ได้กับ อุโมงค์น้ำ “มนต์ธาราศรัทธาสายมู”
ภูเก็ต งานภูเก็ตนครา มหาสงกรานต์ 2567 “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตเพอรานากัน” ระหว่าง 13 – 15 เม.ย. (พิธีเปิด 14 เม.ย.) ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) อำเภอเมืองภูเก็ต
สมุทรปราการ งานสงกรานต์ “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนมอญ/รามัญ” ระหว่าง 18 – 20 เม.ย.ณ ป้อมแผลงไฟฟ้า อ.พระประแดง การละเล่นและวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ขบวนแห่รถบุปผชาติ ขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ การประกวดนางสงกรานต์พระประแดง / การประกวดหนุ่มลอยชาย
ชลบุรี งานสงกรานต์ “สงกรานต์งามวิจิตร อัตลักษณ์วิถีชีวิต ชลบุรี” Pattaya Old Town ระหว่าง 19 – 21 เม.ย. ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา วัดหนองใหญ่ พัทยา และวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) การแสดงตำนานนางสงกรานต์ การสาธิตการก่อเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุด ขบวนแห่มหาสงกรานต์ ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างสีสันให้เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย วธ.ขอเชิญสวมใส่เสื้อลายดอก ตลอดเดือนเมษาฯ นี้ และร่วมกันเพื่อแพร่คุณค่าสาระของประเพณี โดยเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลและติดตามรายละเอียดกิจกรรมสงกรานต์ ได้ทาง www.culture.go.th / เฟซบุ๊กแฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสายด่วนวัฒนธรรม 1765