เอ่ยถึงความกังวลของประชาชน ที่มีต่อปัญหาของประเทศ ในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไป
เช่นบางประเทศก็กังวลต่อ “ปัญหาสงคราม” เพราะประเทศของตนกำลังผจญกับสงครามที่ทำให้ประเทศของพวกเขาตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด อย่างประชาชนชาวยูเครน หรือชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เป็นต้น
บางประเทศ ก็กังวลกับปัญหาแก๊งอาชญากรรมป่วนเมือง เช่น ประชาชนในเฮติ และประชาชนในหลายประเทศของภูมิภาคอเมริกากลางตลอดจนอเมริกาใต้ อย่างเม็กซิโก และบราซิล เป็นอาทิ
บางประเทศ ก็กังวลเรื่องปัญหายาเสพติด อย่างประชาชนในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ก็สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละประเทศล้วนต่างมีปัญหา มากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศที่ได้ชื่อว่าอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แถมยังเป็นมหาอำนาจแถวหน้าของโลก อย่าง “สหรัฐอเมริกา”
โดยทาง “แกลลัพ อิงค์” บริษัทด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีความกังวลต่อปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญกันอย่างไรบ้าง?
ผลการสำรวจปรากฏว่า ชาวอเมริกันมีความกังวลต่อปัญหาต่างๆ ที่ประเทศของพวกเขากำลังผจญอยู่หลายด้านด้วยกัน ได้แก่
“ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ” ถือเป็นปัญหาที่ชาวอเมริกันให้ความสำคัญและนับเป็น “ปัญหาใหญ่ที่สุด” หรือ “เบอร์หนึ่ง” ของประเทศ เพราะแสดงความกังวลกันด้วยตัวเลขที่สูงในแทบทุกครั้งและทุกปีที่ทาง “แกลลัพ อิงค์” ดำเนินการสำรวจ โดยในครั้งล่าสุด พบว่า ชาวอเมริกันกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ถึงร้อยละ 55 หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามเลยทีเดียว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ชาวอเมริกัน มีความกังวลกันเป็นอย่างสูงต่อปัญหาภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว ก็เพราะเกี่ยวข้องกับ “เงินในกระเป๋า” ของพวกเขาโดยตรง เนื่องจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลต่อราคาของสินค้าชนิดต่างๆ พุ่งสูงขึ้น หรือ “ของแพง” ตามมา นั่นเอง
ปัญหาต่อมา ที่ชาวอเมริกัน กังวลมากเป็นอันดับ 2 ก็คือ “ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงต่างๆ”
ตามการสำรวจของ “แกลลัพ อิงค์” พบว่า ชาวอเมริกันกังวลปัญหาข้างต้นถึงร้อยละ 53 ใกล้เคียงกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อเลยทีเดียว
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงปัญหานี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า ที่สหรัฐฯ นั้น มีเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิง หรือถึงกราดยิง กันแทบไม่เว้นกันแต่ละวัน
ขณะที่ “ปัญหาผู้หิวโหยและคนไร้บ้าน” ชาวอเมริกันกังวลเป็นห่วงมากเป็นลำดับ 3 ด้วยจำนวนร้อยละ 52 ตามการสำรวจของ “แกลลัพ อิงค์”
โดยปัญหาผู้หิวโหยและคนไร้บ้าน ซึ่งมีให้เห็นตามท้องถนน แทบจะทั่วทุกตรอกซอกซอย ที่เดิมทีในสหรัฐฯ ก็ถือว่าหนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ทวีความสาหัสสากรรจ์ยิ่งขึ้น หลังการอาละวาดของ “โคโรนาไวรัส 2019” หรือ “โควิด-19” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้สหรัฐฯ มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม และผู้ป่วยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของโลก
ในปัญหาที่เป็นข้อกังวลของชาวอเมริกันที่มากเป็นอันดับ 3 นั้น ปรากฏว่า ยังมีอีกปัญหาหนึ่งได้ตัวเลขของการสำรวจเรื่องความกังวลเท่ากันกับข้างต้น คือ ร้อยละ 52 เท่ากัน นั่นคือ “ปัญหาเศรษฐกิจ”
ส่วนอันดับ 4 ที่ได้ตัวเลขของการสำรวจลดหลั่นลงคือ “ปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุขและการได้รับการดูแลสุขภาพ” ที่มีต่อพวกเขา โดยมีตัวเลขที่สำรวจได้สูงถึงร้อยละ 51 ด้วยกัน
โดยในอันดับที่ 4 ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่ชาวอเมริกัน แสดงความกังวลไม่หยิ่งหย่อนกับปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุขและการได้รับการดูแลสุขภาพ นั่นคือ “ปัญหาการใช้จ่ายภาครัฐที่มากเกินไป” ซึ่งได้ตัวเลขของความกังวลที่ร้อยละ 51 โดยปัญหานี้ก็จะทำให้ภาครัฐต้องปิดทำการชั่วคราว หรือชัตดาวน์กันหลายครั้ง และหลายรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เหล่าปัญหาข้างต้น ก็ถือว่าชาวอเมริกันมีความกังวลกันเป็นอย่างมาก เพราะได้ตัวเลขจากผลการสำรวจเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่าร้อยละ 50
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ชาวอเมริกันก็กังวลกันเป็นอย่างสูง โดยได้ผลลัพธ์ของการสำรวจเกือบจะแตะร้อยละ 50 ได้แก่ “ปัญหาการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย”
ตามการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน กังวลต่อปัญหานี้มากถึงร้อยละ 48 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม
โดยชาวอเมริกัน เห็นว่า บรรดาผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายพวกนี้ สร้างปัญหาอื่นๆ ให้แก่พวกเขา ทั้งเศรษฐกิจ การจ้างงาน การเข้ามาก่ออาชญากรรมสารพัด
นอกจากประชาชนชาวอเมริกันแล้ว แม้กระทั่งทางการทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงรัฐบาลกลาง ก็ต้องหามาตรการต่างๆ ป้องกันและแก้ไข เช่น การสร้างกำแพงป้องกันลักลอบข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก เป็นต้น
ถัดมาเป็น “ปัญหาเรื่องการว่างงาน” ที่ตามการสำรวจของ “แกลลัพ อิงค์” พบว่า ชาวอเมริกันกังวลต่อปัญหานี้ที่ร้อยละ 40
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้างต้น ก็เสมือนหนึ่งเป็นเสียงสะท้อนออกมาของชาวอเมริกันต่อบรรดาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ ให้เร่งหานโยบายมาแก้ไขสารพัดปัญหาเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นข้อกังวลของชาวอเมริกันให้คลายความวิตกกันต่อไป