เมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า เปิดคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีโครงการ Digital Wallet อ้างรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการตามโครงการ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษารายละเอียดและแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 พูดภาษาชาวบ้านคือวินิจฉัยแบบขวานผ่าซากว่า วินิจฉัยไม่ได้เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินโครงการ
กรณีดังกล่าวนาย ทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่น จึงมีคำวินิจฉัย ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ยุติเรื่องร้องที่ข้าพเจ้าร้องเรียน
ความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้
1. วันที่ 30 ธ.ค.2566 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวความคืบหน้าคำร้องให้มีการตรวจสอบนโยบายดังกล่าว ว่ากำลังรวบรวมข้อเท็จจริงและจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อกฎหมาย เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว
ดิฉันก็รอท่านมาตั้ง 6 เดือนแล้ว เข้าใจว่าท่านยังวินิจฉัยเรื่องนี้ไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด แต่ขณะนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ออกมายืนยันแล้วว่า วันที่ 10 เมษายน นี้ จะแถลงไทม์ไลน์โครงการฯ
ดิฉันขอเรียนถามท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต และ นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า
ทำไมท่านไม่รอฟังคำแถลงของนายกฯ ก่อน ซึ่งจะทำให้ท่านมีข้อมูลประกอบการวินิจฉัยได้ว่ารัฐบาลปฏิบัติถูกต้องไหม และนโยบายดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่
ท่านมิได้ทำตามที่แถลงไว้ในวันที่ 30 ธ.ค.2566 ว่าจะรวบรวมข้อเท็จจริงและจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัย แต่ท่านกลับรีบร้อนเลิกการรวบรวมข้อมูลและยุติเรื่องร้องเรียน ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนขนาดนี้ อีกแค่สิบกว่าวันทำไมท่านจึงรอไม่ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศ การที่ดิฉันร้องเรียนเรื่องหมวด 5 หน้าที่รัฐนี้ เป็นเรื่องใหม่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นครั้งแรกที่ให้สิทธิประชาชนร้องศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยมาในทิศทางเดียวกับหน่วยงานที่ท่านลอกมาตอบดิฉัน ดิฉันก็สามารถใช้คำวินิจฉัยของท่านประกอบการร้องศาลรัฐธรรมนูญได้
แต่นี้ท่านชิงยุติเรื่องร้องเรียนไปก่อน ดิฉันเป็นแค่ประชาชน และก็ไม่ใช่นักกฎหมาย ดิฉันดำเนินเรื่องตามกฎหมายทุกขั้นตอนมา 6 เดือนจนถึงวันนี้ ครบ 2 ขั้นตอนแล้ว (ดูขั้นตอนตามอินโฟกราฟิกประกอบ) เมื่อผู้ตรวจการฯ ยุติเรื่องไปดื้อๆ ดิฉันก็ขอเรียนไว้ล่วงหน้าเลยว่า จะรอนายกฯ แถลง ในวันที่ 10 เมษายน นี้ แล้วถ้ารัฐบาลมีความชัดเจนในรายละเอียดโครงการ ดิฉันก็จะยื่นร้องเรียนผู้ตรวจการฯ อีกรอบ ทั้งนี้เพื่อให้ดิฉันได้สิทธิในขั้นตอนที่ 3 เพื่อร้องศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
2. ในคำวินิจฉัยที่ท่านส่งมา มีแต่การลอกคำวินิจฉัยและข้อสังเกตของหน่วยงานอื่นมาตอบดิฉันทั้งนั้น ไม่ว่าจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ (สศช.) สนง. เศรษฐกิจการคลัง (สนง.) บริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)
3. ขอเรียนถามท่านด้วยความจริงใจว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำแต่งานมโนสาเร่ อีเหละเขละขละ เช่นนี้ต่อไปอีกนานเท่าใด เพราะดิฉันได้ติดตามเฟซบุ๊กของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พบว่า มีการโพสต์เรื่องที่ไม่ได้มีผู้ร้องเรียนและไม่ใช่หน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่นเรื่อง วิสาหกิจชุมชน กับบัณฑิตแรงงานอาสา ซึ่งมีหน่วยงานราชการอื่นรับผิดชอบดำเนินงานโดยตรงอยู่แล้ว
การดำเนินการดังกล่าวย่อมต้องใช้งบประมาณของหน่วยงานใช่หรือไม่ ทำไมท่านหยิบยกทำเรื่องที่ไม่ควรทำ ส่วนเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่สนใจของประชาชน เกี่ยวข้องกับงบประมาณแสนล้าน ทำไมท่านจึงยุติการหาข้อมูลและการวินิจฉัย
ดิฉันไม่แปลกใจว่า ทุกครั้งที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ มีการเสนอให้ยุบองค์กรอิสระโดยเฉพาะ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทุกครั้ง
4. เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดิฉันร้องเรียนเรื่อง นช. ทักษิณ จนตอนนี้แข็งแรงหน้าใสปิ๊งแล้ว ทำไมผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รีบวินิจฉัยบ้าง ยังดองเรื่องไว้จนวันนี้ รออะไรคะ ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพออีกหรือ
5. ได้ข่าวว่า เงินเดือนผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ละท่าน เป็นเงินเดือนประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท เมื่อบวกค่าเบี้ยประชุมและเงินรับรอง รวมแล้ว เกือบสามแสนบาท นี้ยังไม่รวมบำนาญที่จะได้รับอีก
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีสามคน คิดเป็นเงินเกือบหนึ่งล้านบาทต่อเดือน ปีละประมาณสิบล้านบาท มากไปไหมถ้าทำงานกันแบบนี้ เอาเงินไปสร้างโรงเรียนให้เด็กในต่างจังหวัดดีกว่าไหม ไม่ต้องมีแล้วสนง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าหาที่คนตั้งใจและกล้าหาญในการตัดสินใจทำงานเพื่อรักษาความถูกต้องยุติธรรมไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีดีกว่า
สรุปเรื่องดังกล่าวข้าพเจ้าร้องเรียนผู้ตรวจการให้วินิจฉัย หรือส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
1. วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2566
นโยบายแจกเงินดิจิทัล ขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทบัญญัติในส่วนของหน้าที่ของรัฐหรือไม่
2. วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2566
ร้องเรียนรัฐบาลยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
เหตุผลที่ยื่นเรื่องนี้ได้แจ้งกับทางผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วว่า เพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้า ผู้ตรวจการจะได้มีเวลารวบรวมข้อมูลเรื่องดังกล่าว ในการที่หากว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าจะได้รับประโยชน์ ในฐานะผู้ร้องเรียนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในการที่จะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่รอให้เกิดความเสียหายก่อนเพิ่งจะมานับหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียน ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินควรรอข้อมูลจากรัฐบาล ไม่ใช่รีบปิดจ๊อบแบบนี้
3. วันที่ 10 ธันวาคมพ.ศ.2566
หลังจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แถลงว่ามีนโยบายที่จะ “ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท” เพื่อนำแจกในโครงการฯ ข้าพเจ้าจึงร้องเรียนเพิ่มเติมดังนี้
ขอให้วินิจฉัยว่าการที่รัฐบาลจะ “ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 53 หรือไม่
4. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2566 ข้าพเจ้าส่งหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยกเลิกโครงการฯ และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่งหนังสือโต้แย้งกลับไปแล้ว (ขั้นตอนที่ 1)
จึงได้ร้องเรียนท่านผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้งตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 (ขั้นตอนที่ 2)
วิรังรอง ทัพพะรังสี
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก วิรังรอง ทัพพะรังสี
#ดิจิทัลวอลเล็ต #ผู้ตรวจการแผ่นดิน #วิรังรองทัพพะรังสี #ข่าววันนี้