Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.37 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.39 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.30-35.45 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากในช่วงวันศุกร์ เป็นวันหยุด Good Friday ทั้งในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯและยุโรป แม้ว่าจะมีรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ก็ตาม อย่างไรก็ดี รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่ออกมาตามคาด ก็พอช่วยลดความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์ชะลอการแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ รายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีนล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็ช่วยให้เงินหยวนจีนแข็งค่าขึ้นบ้าง และมีส่วนชะลอการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นทำ All-time High ของราคาทองคำ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติมในช่วงนี้ได้ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด/ชะลอการลดดอกเบี้ย ตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้ดี อีกทั้งเจ้าหน้าที่เฟดก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) โดยหากข้อมูลดังกล่าว ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง เช่น จ้างงานราว 2.5 แสนราย สูงกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 2 แสนราย หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) เดือนมีนาคม ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย จนทำให้ เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งต้องจับตาว่า โทนการสื่อสารของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยรวมมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะการสื่อสารมีความ Hawkish มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งการสื่อสารดังกล่าว อาจมีข้อความประมาณว่า เฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้ง เพราะเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า เป็นต้น

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมีนาคม และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหากรายงานข้อมูลดังกล่าว สะท้อนถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงมากขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่หากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมได้ ซึ่งเร็วกว่าเฟด ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) อาจอ่อนค่าลงได้ ในกรณีดังกล่าว

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย Caixin (Manufacturing & Services PMIs) เดือนมีนาคม ที่จะสะท้อนภาพธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลางเป็นหลัก โดยหากดัชนี PMI ออกมาสูงกว่าระดับ 50 จุด ตามที่นักวิเคราะห์ประเมิน จะเป็นสัญญาณที่ดีว่า เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในหลายภาคส่วน หลังดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยทางการจีน ที่เน้นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ก็ออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการบริการ ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความหวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดยังคงมองว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.50% จนกว่าจะเห็นการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของอัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินรูปีไม่ได้เผชิญแรงกดดันอ่อนค่ามากนัก (ซึ่งอาจต้องหลังเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย)

▪ ฝั่งไทย – นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนมีนาคม อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ -0.40% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน และการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อไทยปรับตัวขึ้นได้จริงตามคาดและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนเมษายนนี้ 


สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตามุมมองผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำ โดยล่าสุดราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำ All-time High จึงเสี่ยงที่จะเผชิญการปรับฐาน หากไร้ปัจจัยหนุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากเงินหยวนจีน (CNY) ชะลอการอ่อนค่าและแข็งค่าขึ้นได้ หลังรายงานดัชนี PMI ล่าสุดที่ดีกว่าคาดมาก ก็อาจช่วยหนุนเงินบาทได้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าบ้าง หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE ออกมาตามคาด แต่เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หรือรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานฯ (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาด เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.00-36.60 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.45 บาท/ดอลลาร์

#KrungthaiGLOBALMARKETS #ค่าเงินบาท #ดอกเบี้ย #ข่าววันนี้ #สยามรัฐวันนี้ #เฟด