ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายวสันต์  สุนจิรัตน์ กำนันคนดังตำบลช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  ได้กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บ้านซองกาเลีย หมู่ 8 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ได้สำรวจอุโมงค์ที่คาดว่าน่าจะถูกขุดขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่กองทัพญี่ปุ่น เกณฑ์เชลยศึกและกรรมกร มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ(สถานีจากหนองปลาดุ(ไทย)-สถานีตันบูชายัต(พม่า) 

ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 สังขละบุรี-ด่านเจดีย์สามองค์ อยู่บนเนินเขาห่างจากถนนประมาณ 100 เมตร โดยอุโมงค์ที่พบมีความกว้างประมาณ 2 เมตร สูง180-190 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35 เมตร เป็นอุโมงค์ที่เจาะทะลุเนินเขาเพื่อเชื่อมไปยังพื้นที่ด้านหลังซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยภายในอุโมงค์มีอุณหภูมิที่เย็นสบาย(ประมาณ 24-25 องศา) อากาศถ่ายเทได้ดี มีลมพัดเย็นสบาย เป็นอุโมงค์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์(เชลยศึก) เนื่องจากมีร่องรอยการใช้อีเตอร์ ชะแลง และจอบในการขุด 

 

โดยอุโมงค์ยังอยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ พบการถล่มของดินเฉพาะบริเวณปากอุโมงค์ทั้ง 2 ด้านของเนินเขาเท่านั้น คาดว่าน่าจะใช้เป็นที่หลบภัยสำหรับป้องการการโจมตีทางอากาศในช่วงการก่อสร้างทางรถไฟจากบ้านซองกาเลีย-ด่านเจดีย์สามองค์และน่าจะมีการใช้งานอุโมงค์ในช่วงสงคราม เนื่องจากพบคราบของควันติดอยู่ผนังอุโมงในส่วนที่เจาะผนังเข้าไปสำหรับเป็นที่วางตะเกียง เพื่อเป็นไฟส่องสว่างภายในอุโมงค์อีกด้วย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้อุโมงค์ยังคงมีความแข็งแรง เนื่องจากการออกแบบการขุดภายในอุโมงค์ให้มีลักษณะคล้ายเสาทุกระยะ 2 เมตรตลอดภายในอุโมงค์ ประกอบกับพื้นดินบริเวณที่ขุดอุโมงค์เป็นชั้นดินดานที่มีความแข็งกว่าดินทั่วไป

ทั้งนี้อุโมงค์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่บางกลุ่มที่มีความสนใจ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั้วไป นายมานชัย วัฒนการัณย์ และนายศราวุธ ไทรสังข์สิริพงศ์ ชาวอำเภอสังขละบุรีที่สนใจศึกษาเส้นทางรถไฟมรณะในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าทำการสำรวจ ศึกษา เพื่อทำการอนุรักษ์ และพัฒนาให้เป็นสถานที่เรียนรู้ และท่องเที่ยวให้แก่เยาวชน ประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ต่อไป ขณะนี้ได้รับการประสานจาก นายพนม โพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทรราษฎร เขต 5 กาญจนบุรี ว่าเดือนเมษายนนี้ จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อไป 

สำหรับทางรถไฟสายมรณะ สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ขอยืมเงินจากรัฐบาลไทย จำนวน 4 ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลาในการสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า หลังสงครามทางรถไฟบางส่วนถูกรื้อทิ้ง บางส่วนจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทางรถไฟสายนี้ ถือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้น เนื่องจากน้ำเป็นพักน้ำแรงของทหารเชลยศึกในสงครามฝ่ายพันธมิตรที่บุกเบิกก่อสร้าง ที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาทำการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ได้ชื่อว่า เป็นทางรถไฟสายมรณะ  ก็เพราะว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวชาวจีน ญวน ชวา มลายู พม่า อินเดีย อีกจำนวนมาก และคนไทยที่ถูกเกณฑ์เป็นทาสอีกนับแสนราย มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล เพื่อจะไปโจมตีพม่าและอินเดียต่อไป 

โดย ขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ เส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัยตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง 

สำหรบ ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2486 และเปิดใช้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปีเดียวกัน หลังสิ้นสุดสงครามรัฐบาลไทยได้จ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อซื้อทางรถไฟสายนี้[1]จากอังกฤษ และทำการซ่อมบำรุงบางส่วนของเส้นทางดังกล่าว เพื่อเปิดการเดินรถตั้งแต่สถานีหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน โดย เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นอนุสรณ์ของโลกที่จารึกความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามโลกอีกด้วย