วันที่ 30 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานโครงการ "เปิดตลาดผ้าทอ: พลังหัตถศิลป์ (Soft Power) สร้างสรรค์อีสานชายแดนใต้" โดยมี นายอำเภอสุคิริน ประชาชนในตำบลภูเขาทอง 8 หมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง ครู นักเรียน โรงเรียนรักไทย อาจารย์ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และนักท่องเที่ยว รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม

 

สำหรับ โครงการ "เปิดตลาดผ้าทอ: พลังหัตถศิลป์ (Soft Power) สร้างสรรค์อีสานชายแดนใต้"สืบเนื่องจากทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.เก็ตถวา บุญปราการ ได้นำโครงการวิจัยเรื่อง "ผ้าทอเชิงสร้างสรรค์: การสร้างมูลค่าเพิ่มผ้าทอเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ของชาวอีสานข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนใต้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ กลุ่ม ศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส"

การขับเคลื่อนดังกล่าว ทีมวิจัยได้เข้ามาสร้างภาคีเครือข่ายกับองค์การบริหารส่วนตำบล ภูเขาทอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กลุ่มออนซอนโต๊ะโมะ กลุ่ม ศิลปาชีพทอผ้าบ้านโต๊ะโมะ และกลุ่มศิลปาชีพบ้านภูเขาทอง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการนำทุนวัฒนธรรมผ้าทอ ของชุมชนมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดการต่อยอด นอกจากนั้นยังมีการรื้อฟื้นภูมิปัญญาผ้าทอที่กำลังสูญหายไปให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงต้นน้ำได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้โครงการ มีการพูดคุยร่วมกันและถอดบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อหาแนวทางในการรื้อฟื้นผ้าทอ

ทั้งนี้การทำงานกลางน้ำในระหว่างทางได้มีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้และทักษะด้านลวดลายผ้าทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้จากผ้าทอโดยมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านโต๊ะโมะ กลุ่มศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะ บ้านภูเขาทอง และกลุ่มออนซอนโต๊ะโมะ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกครั้ง นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าของกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าบ้านโต๊ะโมะให้แก่เยาวชนโรงเรียนนิคมพัฒนา 10 ตำบลมาโมง อำเภอสุคิริน ร่วม ขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาผ้าทอบ้านโต๊ะโมะ และที่สำคัญคือ ปลายน้ำ กิจกรรมการเปิดตลาดผ้าทอจึงนับเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ต้องการเชื่อมโยงให้ผ้าทอของตำบลภูเขาทองเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนกิจกรรมการทอผ้าและแปร รูปผลิตภัณฑ์สามารถรื้อฟื้น ต่อยอด ขยายผลเพื่อให้ชุมชนสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์และคุณค่าด้านการสืบทอดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้า และสร้างจิตสำนึกรักวัฒนธรรมไทยวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้กับเยาวชน โดยให้ตระหนักถึงคุณค่าของอัตลักษณ์ชุมชนอีสานชายแดนใต้ และการสร้างพลังเกาะเกี่ยวทางสังคมของคน 3 วัย โดยการจัดกิจกรรม การแสดงรำฝ้อนกลองยาวผลงานจากกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผ้าทอต่อเป็นผืนที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง "ร้อยสายใย ร้อยพันผูก ร้อยพลังรัก ร้อยดวงใจ ร้อยมิตรภาพ ร้อยไทบ้าน ตำบลภูเขาทอง" การประกวดแข่งขันแฟชั่นผ้าทอใส่สบายสไตล์ 3 Gen หมายถึงการสร้างพลังเกาะเกี่ยวทางสังคมของคน 3 วัย การประกวดแข่งขันลวดลายผ้าทอเชิงสร้างสรรค์อัตลักษณ์ชุมชนอีสานชายแดนใต้ การประกวดแข่งขันการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากผ้าทออันเป็นอัตลักษณ์ชุมชนอีสานชายแดนใต้

 

นอกจากนี้ บริเวณงานยังมีเต็นท์ที่จัดบูธแสดงผ้าทอ ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลภูเขาทองมีมัคคุเทศก์น้อยท้องถิ่นคอยอธิบายให้ความรู้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมการจัดงานครั้งนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจจากทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย และทุกคนในตำบลภูเขาทอง