เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์เฟสบุ๊คระบุข้อความว่า

ตำรวจ : เดินหน้าหรือถอยหลัง

กรณีความขัดแย้งระหว่างผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาวุโสอันดับหนึ่ง ที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างเปิดข้อมูลเรื่องการทุจริตของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา

คำถามมีอยู่ว่าข่าวสารเรื่องการทุจริตของตำรวจที่เปิดเผยมานั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ? ผมมองว่าแต่ละฝ่ายต่างรู้ดีว่าการเปิดเผยข้อมูลออกมาจะนำไปสู่การฟ้องร้องในคดีอาญาข้อหาหมิ่น ประมาท ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงต้องมีความมั่นใจในข้อมูลของตัวเองพอประมาณว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ที่ผมศึกษาวิจัยเรื่องบ่อนการพนันในกรุงเทพฯ และได้มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นครั้งแรกว่าตำรวจมีการรับส่วยจากเจ้าของบ่อนการพนัน ข้อมูลเหล่านั้นผมได้รับมาด้วยมือจากตำรวจซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เขาไปรับจากเจ้าของบ่อนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ว่าแต่ละคนจ่ายเงินส่วยเป็นจำนวนเท่าไรต่อเดือน

ผมยังจำได้ดีว่าในสมุดบันทึกของตำรวจที่ผมได้รับมานั้น มีการเขียนเอาไว้ด้วยลายมืออย่างชัดเจนถึงจำนวนเงินที่เป็นตัวเลข ว่าตำรวจยศชั้นใดได้รับเงินเป็นจำนวนเท่าไร

นอกจากนั้นธุรกิจนอกกฎหมายบางประเภทมีการส่งเสริมมาจากระดับภูมิภาคถึงส่วนกลาง โดยเงินส่วยดังกล่าวมีการแจกจ่ายตั้งแต่ระดับภูมิภาคเรื่อยมาจนกระทั่งถึงศูนย์กลางของอำนาจ เพราะฉะนั้นผู้มีอำนาจในวงการตำรวจส่วนกลางจึงมีรายได้ดีตามสมควร

ผมเข้าใจว่าข้อมูลเหล่านี้ในหมู่ตำรวจเองก็น่าจะพอรับรู้กันอยู่ ไม่ได้เป็นความลับอะไรมากมาย มีแต่คนนอกวงการเท่านั้นที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง หรือไม่รู้ตัวเลขเป็นจำนวนที่แน่ชัดเท่านั้น

เพราะฉะนั้นการที่ ผบ.ตร.กับรองผบ.ตร.ออกมาเปิดข้อมูลของแต่ละฝ่าย น่าจะเป็นเรื่องที่ตำรวจที่สั่งสมอำนาจ และบารมีมาเป็นเวลายาวนานตามสมควรก่อนที่จะขึ้นมาสู่ยอดปิระมิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงต่างที่จะมีข้อมูลของคนอื่นๆ อยู่บ้างแล้ว

ข้อมูลการทุจริตของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับสูงสุดสองท่านหากเกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบราชการที่เข้มแข็ง  สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็สามารถที่จะดำเนินการสอบสวน และหากมีมูลก็สามารถดำเนินคดี กับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองท่านได้ทันที ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทั้งสองท่านต้องแสดงความเห็นหรือออกมาปฏิเสธข้อมูลต่างๆต่อหน้าสื่อมวลชนไปแบบวันต่อวัน

แต่เพราะว่าระบบตำรวจไทยเองเป็นระบบราชการที่ล้าหลังและมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แบบอุปถัมภ์เชิงแลกเปลี่ยน แบบพวกพ้อง และแบบสถาบันนิยม จึงทำให้ระบบตำรวจไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ได้อย่างที่สังคมคาดหวัง ระบบตำรวจจึงไม่มีความสามารถอย่างเพียงพอและอย่างที่เป็นตำรวจมืออาชีพสมัยใหม่ที่จะแก้ปัญหาภายในของตัวเองได้

ที่ผมบอกว่าระบบตำรวจเป็นแบบล้าหลังนั้นผมหมายถึงเนื้อในของระบบ  ตำรวจ ไม่ได้หมายถึงรูปแบบของระบบตำรวจ เช่นเครื่องหมายเครื่องมือหรืออาวุธยุทธโธปกรณ์ของตำรวจ แต่ผมหมายถึงโครงสร้างของระบบตำรวจที่เป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ที่ลอกเลียนแบบมาจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในระบบนี้ความสัมพันธ์เชิง โครงสร้างอำนาจและโครงสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวของคนภายใน ระบบตำรวจที่ยังคงเป็นแบบโบราณ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากนัก

ระบบและโครงสร้างของตำรวจไทยที่โบราณและล้าหลังที่ต้องอยู่ภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสังคมการเมืองที่เอนเอียงออกไปทางความทันสมัย แบบสังคมตะวันตก เป็นความขัดแย้งที่บางสิ่งบางอย่างสามารถ ประนีประนอมกันได้ แต่บางสิ่งบางอย่างก็เกิดการปะทะอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดวิกฤตภายในของระบบตำรวจขึ้นเป็นระยะๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

ผมสังเกตว่ามีข่าวที่ตำรวจประพฤติผิดในเรื่องของการทุจริตเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันในหน้าสื่อมวลชน เป็นวิกฤตเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งระบบของตำรวจ แต่กรณีความขัดแย้งระหว่าง ผบ.ตร.กับรอง ผบ.ตร.เป็นความขัดแย้งในระดับที่เป็นวิกฤตขององค์กร จัดอยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นร้ายแรงได้ ความขัดแย้งของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในกรณีนี้ส่งผลให้ชาวบ้านโดยทั่วไปเกิดความรู้สึกหวาดหวั่นและไม่มั่นคงกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตามไปด้วย เพราะตำรวจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมไทย เมื่อองค์กรตำรวจ กลายเป็นปัญหาเสียเอง แทนที่จะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความยุติธรรม กลับกลายเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นตลาดซื้อขายและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของธุรกิจที่กฎหมายไม่ยอมรับที่มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาว่าเค้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ความขัดแย้งนี้สามารถแก้ไขให้คลี่คลายออกไปได้หลายแนวทาง ตั้งแต่การหาการปรองดองของช่างสองฝ่ายเพื่อให้เรื่องราวต่างๆยุติ โดยทั้งสองฝ่ายกลับไปทำงานในหน้าที่เดิม หรือลงโทษทั้งสองฝ่ายในระดับที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น แล้วรัฐบาลแต่งตั้งผบ.ตร. ท่านใหม่ขึ้นทำหน้าที่แทน วิธีการแบบนี้รัฐบาลจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะได้คนของตัวเองมาทำหน้าที่ ระบบและโครงสร้างของตำรวจไม่ต้องมีอะไรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเฉพาะส่วนหัวคนเดียวที่จะมาดูแลและช่วยเหลือรัฐบาล แนวทางแบบนี้ไม่แก้ให้ปัญหาใหญ่ๆ ของตำรวจได้รับการแก้ไข องค์กรตำรวจจะสำนักสายต่อไป พี่น้องประชาชนจะประสบความทุกข์ยากต่อไป

แนวทางแบบนี้เหมือนเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่สังคมไปเรื่อยๆที่จะ กระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกโกรธและ เกลียดตำรวจต่อไป เป็นการสั่งสมความร้อนภายในระบบสังคมให้ระอุมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเมื่อสังคมหมดความอดทน จนกลายเป็นแรงระเบิดที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง ตำรวจจะกลายเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ประชาชนอยากเห็นการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงองค์กรนี้อย่างถึงราก ถึงโขของปัญหาให้มากที่สุด

ส่วนแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยและประชาชนคนไทยส่วนใหญ่แล้ว ควรจะนำไปสู่ข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบและโครงสร้างของตำรวจเสียใหม่ โดยจัดระบบตำรวจให้เป็นตำรวจของแต่ละจังหวัดไป ระบบแบบนี้เป็นการกระจายอำนาจของตำรวจสู่ท้องถิ่น ทำให้ตำรวจกลายเป็นตำรวจของท้องถิ่นไป งานหลักของตำรวจคือการดูแลทุกข์สุข และปัญหาอาชญากรรมของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ระบบแบบนี้เป็นระบบของตำรวจทั่วทั้งโลก เป็นระบบที่ตำรวจจะใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด และทำหน้าที่ดูแลประโยชน์สุขให้กับประชาชนได้ดีที่สุด

แนวทางแบบนี้จะช่วยทำให้ระบบส่วย ที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องหวยใต้ดิน บ่อนการพนัน ซ่องและยาบ้า ตลอดจนธุรกิจที่กฎหมายไม่ยอมรับลดลงได้บ้าง แนวทางแบบนี้จะช่วยทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจลดลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจกับตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น

สำหรับผมแล้วแนวทางการปฏิรูประบบ โครงสร้างและความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมของตำรวจเป็นระยะๆ น่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนไทยมากที่สุด เพราะตำรวจ ส่วนใหญ่กลายเป็นตำรวจอาชีพที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง ส่วนประชาชนจะได้รับความยุติธรรมจากระบบตำรวจได้ดีขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับระบบตำรวจจะได้รับการคลี่คลายลงและตำรวจจะได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนมากขึ้น

สวัสดีครับ…จากผมเอง

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

29 มีนาคม 2567