นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาประจำปี 2567 สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย “เจาะลึกปัญหาสินเชื่อกับหนี้ครัวเรือและทางออก” โดยกล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลัง มีการทบทวนมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ทั้งมาตรการการคลังและมาตรการการเงินเพิ่มเติม เพราะถือว่าภาคอสังหาฯ เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่พอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้
นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับแนวทางแรกนั้น กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ที่ปัจจุบัน ให้เฉพาะที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน3 ล้านบาท ต่อสัญญานั้น โดยจะทำการขยายให้ สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาทมีสิทธิเข้าร่วมด้วยมาตรการด้วย โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรกเท่านั้น
นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนมาตรการทางการเงิน คือโครงการบ้านล้านหลัง เฟส 3 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ที่ปัจจุบันกำหนดให้กู้ได้เฉพาะซื้อที่อยู่อาศัยราคาหรือค่าก่อสร้างและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนั้น อาจจะขยายไปเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมากขึ้น เพราะปัจจุบันที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านนั้นหาได้ยากแล้วจึงต้องปรับให้สอดคล้องกับราคาตลาดในปัจจุบัน และการขยายเป็นราคาสูงสุดเป็น 2 ล้านบาท ก็ไม่ได้เสี่ยงอะไร เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการก็ต้องเป็นคนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองจริงๆ
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะที่การทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้มามากกว่า 5-6 ปีนั้น ทางกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยกำลังศึกษาร่วมกันอยู่ เพราะหลังจากที่ใช้มายังพบปัญหาหลายๆจุด อาทิ ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะกุศล และที่ดินของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่อาจจะต้องมีการทบทวนจัดระเบียบประเภทของที่ดินให้มีความชัดเจนมากขึ้น
นายกฤษฎา กล่าวว่าขณะเดียวกันก็พิจารณาการให้อำนาจองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกำหนดประเภทที่ดินเพื่แเรียกเก็บภาษีมากขึ้นด้วย แม้ปัจจุบันคลังก็ให้อปท. ใช้ดุลพินิจตัดสินใจได้ตามความเหมาะสมเต็มที่อยู่แล้ว เช่นที่ดินเปล่า ที่เจ้าของมีการปลูกต้นไม้ ทำแปลง ทำสวน แต่ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรนั้น อปท.ก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะเข้าเกณฑ์ เป็นที่ดินเปล่าหรือไม่ ส่วนเรื่องอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว จึงยังไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่ม โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางเช่นนี้
“รัฐบาลก็พยายามช่วยภาคอสังหาอย่างเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ได้ส่งกระทบต่อการให้สินเชื่อที่อาศัยของประชาชนโดยปี 2566 พบว่าสินเชื่อภาคอสังหามีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้น 7% จากเมื่อปี 2565ขณะที่กลุ่มหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้น 31% และ หนี้ รหัส 21 (เป็นหนี้เสียจากสถานการณ์โควิด-19) ในส่วนอสังหา เพิ่มขึ้น 25% อย่างไรก็ดีหนี้เอ็นพีแอลเหล่านี้ไม่เสี่ยงต่อระบบเพราะเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน” นายกฤษฎา กล่าว