ถือเป็นศึกที่ลากยาวมาหลายเพลาแล้ว
สำหรับ การชิงชัยในความเป็นใหญ่ด้าน “สารกึ่งตัวนำ” หรือที่เรียกกันฮิตติดปากว่า “เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)” หรือ “ชิป (CHIP)” ระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” กับ “จีน” สมญานามประเทศว่า “แดนมังกร” ก่อนปะทุเดือดอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 (พ.ศ. 2565)
เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ลงนามในรัฐบัญญัติ หรือกฎหมายที่ชื่อว่า “ชิปส์ แอนด์ ไซแอนซ์ แอ็กต์ (The CHIPS and Science Act)” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการผลิตชิปในสหรัฐฯ พร้อมๆ กันนั้น ก็ต่อต้านการผลิตและนำเข้าชิปจากประเทศอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในที่นี้มุ่งเป้าไปที่จีนเป็นหลัก
โดยกฎหมายฉบับนี้ เป็นชุดแพ็กเกจสำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการผลิตชิป และการศึกษาวิจัยด้านชิปในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมแล้วสูงถึง 5.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน มีรายละเอียด ได้แก่
การจัดแคมเปญเพื่อรณรงค์การจูงใจให้บรรดาบริษัทเอกชนมาตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนนี้จะจัดสรรงบประมาณอุดหนุน 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การอุดหนุนด้านการผลิตชิปที่ใช้ในรถยนต์ และยวดยานพาหนะต่างๆ ตลอดจนอุตสาหกรรมอาวุธทั้งหลาย ด้วยงบประมาณสนับสนุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านชิป ด้วยจำนวนเงินสนับสนุน 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมด้านซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่อุปทานด้านชิป อีกจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
พร้อมกันนี้ รัฐบัญญัติฉบับนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะมารับการสนับสนุนเงินอุดหนุนดังกล่าว จะต้องไม่ขยายโรงงานผลิตชิปในจีน ไม่ลงทุนในด้านชิปในจีนเป็นเวลา 10 ปี ยกเว้นการผลิตชิปรุ่นเก่าๆ และประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย รวมถึงห้ามใช้เงินอุดหนุนข้างต้น นำไปซื้อหุ้นคืน หรือนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่บรรดาผู้ถือหุ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ กฎหมายข้างต้นยังเปิดไฟเขียว ให้ทางการสหรัฐฯ สนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาวิจัยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ หุ่นยนต์ หรือโรบอต รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computer) ในประเทศอีกต่างหาก
ผลจากกฎหมายฉบับนี้ สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่จีน โดยได้ออกมาตอบโต้ว่า กฎหมายดังกล่าว ละเมิดต่อการหลักการค้าโลก เพราะเสมือนหนึ่งว่า สหรัฐฯ กำลังกีดกันจีนในทางการค้าด้านชิป รวมถึงยังเป็นการเลือกปฏิบัติต่อจีนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ แม้กระทั่งชิปที่ผลิตจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตในไต้หวัน เช่น ทีเอสเอ็มซี ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตชิปแถวหน้าของโลก และมีโรงงานผลิตอยู่ในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐฯ ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้ส่งออกไปยังจีนอีกด้วย
ก่อนที่ทั้งสิ้น จะ “ห้ามส่งออก” บ้าง “ห้ามนำเข้า” บ้าง เกี่ยวกับชิปของแต่ละฝ่ายหลายครั้งหลายครา
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2023 (พ.ศ. 2566) ทางการสหรัฐฯ โดยคณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน ได้ระงับการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ หรือชิปเอไอ ของที่ผลิตโดยบริษัทอินวิเดีย (Nvidia) ในสหรัฐฯ ไปยังจีน
วัตถุประสงค์ก็เพื่อหวังสกัดกั้นมิให้จีนได้เข้าชิปเอไอที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง เพราะหวั่นเกรงว่า จีนจะนำชิปเอไอของอินวิเดียนี้ ไปใช้ในการเสริมศักยภาพทางการทหารให้แก่กองทัพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทางการสหรัฐฯ อ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาตินั่นเองในการสั่งแบน
โดยชิปเอไอ ซึ่งเป็น “จีพียู (GPU)” ของอินวิเดียอันเลื่องชื่อที่ถูกสั่งห้ามส่งออกไปยังจีนครั้งนี้ ได้แก่ รุ่น เอ100 (A100), เอช100 (H100), เอ800 (A800), และเอช800 (H800) ซึ่งเดิมบรรดาชิปเอไอเหล่านี้ ทางอินวิเดีย ผลิตเพื่อจำหน่ายตลาดในจีน และหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกัน ทางฝั่งจีนก็ไม่ยอมให้สหรัฐฯ กระทำแต่ฝ่ายเดียว ได้ตอบโต้ในสงครามชิปนี้หลายครั้ง กระทั่งล่าสุด เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ทางการจีนได้เปิดศึกชิปกับสหรัฐฯ แบบสะท้านโลก ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าชิปจากสองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตซีพียูชั้นนำของฝั่งสหรัฐฯ ได้แก่ “อินเทล (Intel)” และ “แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์” (Advance Micro Device) หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากในแวดวงไอทีว่า “เอเอ็มดี (AMD)” นั่นเอง
โดยมีรายละเอียด ก็คือ ทางการปักกิ่ง ได้เสนอเป็นไกด์ไลน์ขึ้น เพื่อเตรียมสั่งห้ามนำเข้าชิปทั้งจากอินเทล และเอเอ็มดี ใช้ในคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอทีของหน่วยงานรัฐบาล
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทางการจีนจะนำชิปจากทั้งอินเทล และเอเอ็มดี ออกจากวงจรเครื่องคอมพิวเ ตอร์ ทั้งในรูปแบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี และโน้ตบุ๊ค รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ของหน่วยงานรัฐบาลจีนทั้งหมดอีกด้วย
หลังจากนั้นก็หันมาใช้ชิปที่ผลิตจากบริษัทสัญชาติจีน และโรงงานในจีนแทน
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้อง “เมด อิน ไชน่า (Made in China)” เท่านั้น
โดยมีรายงานว่า ทางการจีนยังจะเตรียมแผนงานที่จะผลักดันส่งเสริมสนับสนุนการผลิตชิปดังกล่าว ให้เป็นกิจการแบบรัฐวิสาหกิจ หรือเอสโออี (SOE) ต่อไปอีกด้วย เพื่อจีนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเองในการผลิตชิปที่จะใช้ในคอมพิวเตอร์ และระบบไอที ตลอดจนระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอต่างๆ
นอกจากนี้ สองยักษ์ใหญ่ด้านซีพียูอย่าง “อินเทล” และ “เอ็เอ็มดี” ที่จะโดนแบนราย ก็ยังมีรายงานว่า ระบบปฏิบัติการ “วินโดวส์” อันมีชื่อกระเดื่องก้องโลกของบริษัทไมโครซอฟท์ ในสหรัฐฯ ก็จ่อคิวที่จะถูกทางการจีนเชือดเป็นรายต่อไปอีกด้วย
เรียกได้ว่า “ชิป” ได้ถูกนำมาเป็นอาวุธห้ำหั่นระหว่างมหาอำนาจสองชาติอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ไม่แพ้การสัประยุทธ์กันด้วยอาวุธสงครามกันเลยทีเดียว