ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

จุดร้อนแรงจุดแรกที่สงครามส่อเค้าจะเกิดขึ้นในวันในพรุ่งก็คือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

นับแต่วินาทีที่มีการก่อการร้ายที่ CROCUS CITY HALL ในงานแสดงคอนเสิร์ตวง PINIC ชานกรุงมอสโก โดยคนร้ายไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ทำการกราดยิงประชาชนรัสเซียที่เข้าไปชมการแสดงดนตรี โดยเหตุการณ์เริ่มประมาณ 18.00 น. เวลาท้องถิ่น นอกจากกราดยิงผู้คนทำให้เสียชีวิตเบื้องต้น 133 คน ต่อมายอดเพิ่มขึ้นเป็น 137 คน บาดเจ็บอีกนับร้อยแล้ว ผู้ก่อการร้ายยังวางเพลิงเผาสถานที่ และทำการหลบหนี แต่ถูกทางการรัสเซียไล่ล่าไปถูกจับกุมได้ที่ชายแดนยูเครนจำนวน 4 คน โดยทางการคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่านั้น

เบื้องต้นพบว่าเป็นชาวทาจีกิสถานที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง หรือที่เรียกว่ายูเรเซีย ผู้ต้องหา 3 ใน 4 รับสารภาพและถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ภายใต้อำนาจศาลรัสเซีย

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกต 2 ประการคือ เบื้องแรกที่มีการโจมตี กลุ่ม ISIS-K (โคราซาน) ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบและมีการเผยแพร่ภาพวิดีโอการโจมตี

ในขณะเดียวกันหน่วยข่าวกรองตะวันตก และสำนักข่าวตะวันตกก็ออกมายืนยันข่าว

แต่ทางการรัสเซียไม่เชื่อข่าว เพราะผู้ต้องหาที่ถูกจับได้และสารภาพไม่ใช่พวกขบวนการก่อการร้าย ISIS-K แค่มีข้อมูลว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงทาจีกิสถาน และเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตรแห่งชาติทาจีกิสถาน ที่อังกฤษให้ความสนับสนุน

นอกจากนี้ ขบวนการนี้ยังเคยส่งทหารรับจ้างมาร่วมรบกับกองทัพยูเครน ที่ทำการรบกับรัสเซีย เมื่อตอนต้นสงคราม

ทางรัสเซียจึงสรุปว่าเป็นขบวนการที่สนับสนุนโดยตะวันตกและยูเครน โดยเฉพาะสามารถจับผู้ต้องหาได้4คนขณะพยายามหนีข้ามเขตแดนรัสเซีย-เบลารุส-ยูเครน

คำถามก็คือว่า ทำไมตะวันตกถึงปล่อยข่าวว่าเป็น ISIS-K และให้ ISIS-K มาประกาศความรับผิดชอบ พิจารณาด้วยเหตุผลก็เพื่อต้องการเบี่ยงเบนประเด็นให้พ้นไปจากยูเครน และให้ออกมาในรูปที่ ISIS ต้องการแก้แค้นที่รัสเซียไปถล่ม ISIS ในซีเรีย แม้จะเป็นคนละกลุ่มกันก็ตาม

อย่างไรก็ตามแม้จะเบี่ยงเบนประเด็นไม่สำเร็จ แต่กลุ่มพันธมิตรแห่งชาติทาจิกิสถานนี้ก็เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ที่ตะวันตกคาดหวังว่าจะสร้างความแตกแยกภายในระหว่างรัสเซีย-ออโทดอก กับ รัสเซีย-มุสลิม ที่มีจำนวนไม่น้อยในสหพันธรัฐรัสเซีย เช่น ในเชชเนีย ดาเกสถานเป็นต้น

ทว่าปูตินไม่ยอมกินเหยื่อนี้ จึงพุ่งเป้าและนำกระแสของความโกรธแค้นของชาวรัสเซียไปสู่ยูเครน ซึ่งก็ปรากฏออกมาในรูปแบบของการโจมตีที่หนักหน่วงรุนแรง เช่น โจมตีกรุงเคียฟ ด้วยขีปนาวุปหลายลูก โจมตีคลังเก็บก๊าซใต้ดิน และโจมตีจุดสำคัญทางทหารอื่นๆของยูเครน และมีเค้าว่าจะเคลื่อนไหวทางทหารเพื่อบุกใหญ่ยูเครนในอีกไม่นานมานี้

คำถามคือ แล้ว NATO- สหรัฐฯและยุโรป จะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ ถ้าทำก็เกิดสงครามใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่าย เพราะมันมีสภาวะแวดล้อมที่ขัดขวางอยู่ เช่น สภาพเศรษฐกิจของยุโรป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ซึ่งจะมาถึงในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

อีกข้อสังเกตที่คนรัสเซีย นอกจากจะโศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของพลเรือนเพื่อนร่วมชาติและความโกรธแค้น ต่อการก่อการร้ายแล้ว พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยข่าวกรองของรัสเซีย FSB และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ทำไมไม่ระแคะระคายเรื่องนี้ ทั้งที่ CIA ได้เคยเตือนประชาชนของเขาในวันที่ 7 มี.ค. ว่าให้หลีกเลี่ยงการไปร่วมในที่ชุมนุมขนาดใหญ่ และรัสเซียเองก็กวาดล้างจับกลุ่มเตรียมก่อการร้ายได้ 2 กลุ่ม ในช่วงก่อนเลือกตั้ง

ครั้นมาถึงช่วงหลังเลือกตั้งจึงชะล่าใจปล่อยปะละเลย  มัวแต่ดีใจที่ปูตินชนะถล่มทลาย จนประมาทเลินเล่อใช่หรือไม่ นอกจากนี้หน่วยกำลังปราบปรามการก่อการร้ายของรัสเซียยังไปถึงที่เกิดเหตุล่าช้ามาก ตามข่าวแจ้งว่าใช้เวลา 1 ชม.ครึ่ง โดยอ้างว่ารถติดซึ่งก็จริง แต่คำถามคือ ทำไมไม่ใช้เฮลิคอปเตอร์

แล้วการก่อการร้ายครั้งนี้มีมูลเหตุจูงใจหลัก คือ อะไร วิเคราะห์ได้ว่าต้องการทำลายขวัญและกำลังใจของฝ่ายรัสเซียที่ถูกปลุกให้ฮึกเหิม ภายหลังการเลือกตั้งที่ปูตินชนะแบบถล่มทลาย ซึ่งแปลผลว่าประชาชนสนับสนุนสงครามในยูเครน

เมื่อแผนก่อการร้ายที่ถูกเบี่ยงเบนประเด็นไปจากยูเครนไม่ได้ผล ก็คาดว่ารัสเซีย โดยปูติน คงจะรุกหนักในสงครามยูเครน โดยเริ่มทำการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง ก่อนบุกภาคพื้นดิน ซึ่งเป้าหมายน่าจะเป็นเคียฟ เพื่อสถาปนารัฐบาลใหม่ที่เป็นมิตรกับรัสเซีย และเป็นหลักประกันความเป็นกลางหรือหลักประกันความมั่นคงของรัสเซียต่อการรุกของ NATO

ครั้นมาพิจารณาอีกจุดเปราะบางที่อาจเกิดสงครามใหญ่ก็คือ สงครามฮามาส-อิสราเอล เป็นที่ทราบกันดีว่า อิสราเอลพุ่งเป้าที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะในกาซา เพื่อแย่งดินแดนระบายพลเมืองตั้งถิ่นฐาน และขุดเจาะก๊าซกับน้ำมันในทะเลของกาซา

โดยขณะนี้มีประชาชนในกาซาเสียชีวิต 32,414 คน บาดเจ็บอีก 74,787 คน ในขณะที่พลเมืองอิสราเอลที่เกิดจากการโจมตีของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคมนั้น มียอดเพียง 1,139 คน ซึ่งมันเทียบกันไม่ได้กับข้ออ้างใดๆของอิสราเอลที่ยังปฏิบัติการอยู่ ทั้งโจมตีทางอากาศ ภาคพื้นดิน และที่สำคัญคือปิดล้อมด้านอาหาร ยาและสิ่งบรรเทาทุกข์ ทำให้ชาวกาซาเริ่มอดอาหารเสียชีวิตนับร้อยที่เหลือก็มีความเสี่ยงสูง

จนวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม คณะมนตรีความมั่นคง UNSC ก็ได้มีการพิจารณาร่างหยุดยิงเป็นครั้งที่ 5 เพราะถูกวีโตจากสหรัฐฯ 3 ครั้ง จากรัสเซีย-จีน 1 ครั้ง ครั้งนี้สหรัฐฯยอมงดออกเสียงหลังจากต่อรองให้ตัดคำว่าการหยุดยิงถาวร เป็นการหยุดยิงในช่วงรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของมสุลิม) มติจึงออกมาทั้งหมด 14 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

ทว่าอิสราเอลสวนควันปืนทันทีว่าจะไม่หยุดยิงจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายนั่นคือ การกำจัดฮามาสให้สิ้น โดยไม่คำนึงถึงผลต่อการเสียชีวิตของพลเรือนกาซา

ส่วนสหรัฐฯ ก็ออกมาแบะท่าว่ามติของ UNSC นี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ในขณะที่นายกูเตอร์เรส เลขาธิการ UN ออกมาโต้ว่ามันมีผลผูกพันและจะต้องมีการบังคับใช้ ซึ่งสอดรับกับชาวโลกส่วนใหญ่

ประเด็นจึงมาอยู่ที่ว่าถ้าอิสราเอลไม่ยอมปฏิบัติตามมติของ UNSC ทาง UN จะทำอย่างไร แน่นอนมันมีบทลงโทษตั้งแต่การแซงก์ซัน หรือการใช้กำลังรักษาสันติภาพของ UN เข้าไปจัดการ

คำถามคือ แล้วสหรัฐฯจะยอมไหม คำตอบก็คือไม่ยอมแน่นอน แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามองย้อนไปสมัยโอบามาก่อนพ้นตำแหน่ง สหรัฐฯก็งดออกเสียงในขระที่ UNSC มีมติให้การตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลในดินแดนยึดครองผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลก็ยังทำมาอย่างต่อเนื่องก็ไม่เห็นมีอะไร

อย่างไรก็ตามครั้งนี้อาจแตกต่าง เพราะถ้าจีน-รัสเซีย ต้องการมีอิทธิพลเหนือตะวันออกกลางซึ่งกลุ่มประเทศอาหรับส่วนใหญ่ต้องการหลุดพ้นจากอิทธิพลของสหรัฐฯ แต่ไม่กล้าต่อต้านโดยตรง เพราะมีการไปลงทุนในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก เกรงถูกแซงก์ซันและยึดทรัพย์

ดังนั้นถ้ารัสเซีย-จีน เสนอตัวเข้าเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อบังคับใช้มติของ UNSC ที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 25 นั่นคือการเผชิญหน้าอย่างจริงจังระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซ๊ย-จีนจนอาจเกิดสงครามใหญ่ได้

ทว่ามติหยุดยิงนี้มีผลบังคับใช้เพียงสิ้นเดือนรอมมาดอน ซึ่งก็เหลือเพียงอีก 2 สัปดาห์ อิสราเอลก็อาจลากถูลู่ถูกังโจมตีต่อไปจนหมดเวลาเพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่ยอมทำตามมติของ UNSC

ในขณะที่ฮามาสนั้นเรียกร้องให้มีการหยุดยิงถาวรตามร่างเดิม และยืนยันว่าพร้อมเจรจาด้วยเงื่อนไขเดิมที่ถูกอิสราเอลปฏิเสธ

คำถามคือถ้าอิสราเอลบุกโจมตีกาซาและกดดันให้ชาวกาซาหนีตายเข้าไปในอียิปต์ มหาอำนาจทั้ง 2 ขั้วจะเดินหมากกันอย่างไร ด้านสหรัฐฯคาดเดาได้ไม่ยาก คือปกป้องอิสราเอล ส่วนจีนและรัสเซีย จะเอาอย่างไรในเมื่อการเมืองโลกนั้นเทมาเห็นใจชาวปาเลสไตน์ผู้ถูกดขี่แล้ว

ส่วนไทยจะยังยึดติดกับสหรัฐฯและอิสราเอลต่อไปอีกหรือไม่ ทั้งๆที่กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ