ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องสมาชิกพรรคก้าวไกล  ฟ้อง กกต.ปฏิบัติ2 มาตรฐานยังไม่ยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย   เเต่เร่งรีบยื่นยุบพรรคก้าวไกลก่อน 9  เม.ย.นี้

วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง    อ่านคำสั่งในคดีที่ เรือเอก ย. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 6  เเละเลขาฯ กกต.รวม 7 คน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 58/2567 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83  พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ. 2560  มาตรา 69   พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560   พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2561 มาตรา 149  พ.ร.ป.ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

โดยโจทก์ ฟ้องว่าโจทก์เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลคนหนึ่ง    จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย   ซึ่งจำเลยทั้ง 6  ที่เป็น กกต.และจำเลยที่ 7   เป็นเลขาธิการ กกต.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระหว่างวันที่  17 ม.ค.-18 มี.ค.2567    โดยร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน   สืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่  1/2567   ในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  170 วรรคสาม ประกอบ  มาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  170 วรรคหนึ่ง  (5) ประกอบ มาตรา 187 หรือไม่   และจำเลย ทั้งหมดทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว   แต่ไม่ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคภูมิใจไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92  โดยโจทก์ได้ทำหนังสือ และส่งหนังสือฉบับหนึ่งส่งถึงเลขาธิการ กกต.และ กกต.ขอให้พิจารณายื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคภูมิใจไทย   และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยทั้งหมด  ซึ่งได้ทราบความประสงค์ของโจทก์แล้วกลับเพิกเฉย

การกระทำของจำเลยทั้งหมด จึงมีเจตนาร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีชอบ ไม่ดำเนินการกับพรรคภูมิใจไทยตามหน้าที่และอำนาจของตน    พฤติการณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประวิงคดีให้เนิ่นช้าเกินสมควร  ไม่ได้ดำเนินการใดๆ   ตามอำนาจและหน้าที่ของพวกตนตามกฎหมาย   ที่จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคภูมิใจไทย   และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560   มาตรา 2 แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเพิกเฉย ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีของนายศักดิ์สยาม    เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย  ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2567   ก่อนกรณีของนาย พ. และพรรค ก.   ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไป   เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567    จึงเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้การกระทำกรรมที่สอง   เมื่อระหว่างวันที่  31  ม.ค.2567   เวลากลางวันต่อเนื่อง ถึงประมาณวันที่ 18  มี.ค.2567   จำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและกระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐมีเจตนาร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากวันที่ 31 ม.ค.2567  ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่3/2567  กรณีของนาย ธ. ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม มาตรา49   ของรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกลผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566ของพรรค ก้าวไกล ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ซึ่งต่อมาในวันที่  1 ก.พ.2567 นาย ร. ในฐานะประชาชนและสมาชิกพรรค พ. ได้ยื่นคำร้อง ต่อสำนักงานของจำเลยมีเจตนาให้จำเลยส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรค ก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเหตุเพราะกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และต่อมาในวันที่ 12 ก.ค.2566 นาย ธ. ได้ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานตัวแทนของจำเลย  โดยมีเจตนาเดียวกันกับนาย ร. ซึ่งในวันที่ 12 มี.ค.2567 จำเลยที่ 1-6  มีเจตนาร่วมกันโดยลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค   และได้มอบหมายให้จำเลยที่ 7 ในฐานะเลขาคณะกรรมการการเลือกตั้ง    โดยไม่โต้แย้งหรือคัดค้าน จึงถือว่ามีเจตนาร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่  1-6   และเป็นผู้ไปยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ

การดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นไปอย่างเร่งรีบ  ขาดความรอบคอบ   และเป็นพิรุธ  ทำให้จนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำสั่งหรือมติรับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาแต่อย่างใดการกระทำดังกล่าวของจำเลย    จึงไม่มีความสุจริตและโปร่งใสเที่ยงธรรมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้หนึ่งผู้ใด คือ โจทก์ หรือสมาชิกพรรคก้าวไกลคนอื่น ๆได้รับความเสียหาย   การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้   เพื่อตรวจคำฟ้อง และให้นัดฟังคำสั่ง หรือคำพิพากษา ในวันที่ 9 เม.ย. เวลา 09.30 น.