“โฆษกรัฐบาล” เผยผลงานรัฐบาลดันส่งออกสินค้าไทยเติบโตต่อเนื่อง เดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 3.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมส่งออกยอดนิยม
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทยให้ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกของอุปสงค์ภาคการผลิต กระแสความมั่นคงทางอาหาร และการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัว เป็นผลให้การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลคว้าโอกาสนี้ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการไทย ผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) การส่งเสริมเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (eWTP Thailand Duty Free Zone) และกิจกรรมจับคู่ผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อรองรับมาตรการการกีดกันทางการค้า
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 โดยสินค้าหลัก ได้แก่
1) สินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,024.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
2) สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 18,748.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 15.5) สหภาพยุโรป (ขยายตัวร้อยละ 3.3) และกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ขยายตัวร้อยละ 4.5) และในตลาดรอง ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย (ขยายตัวร้อยละ 26.4) ลาตินอเมริกา (ขยายตัวร้อยละ 7.9) และรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (ขยายตัวร้อยละ 46.4) ขณะที่วิกฤตการณ์ปัจจุบันในทะเลแดงส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดยุโรปและซาอุดีอาระเบียที่ยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้าจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน เกิดการหดตัว เนื่องด้วยปัจจัยท้าทายในเรื่องของความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าดังกล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องการให้คงการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2567 ไว้ที่อย่างน้อยที่สุด 1-2 % หรือมากกว่า ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้พยายามผลักดันและสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการส่งออกของไทยอย่างเต็มที่
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการส่งออกไทย เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศในการแข่งขันในเวทีโลก โดยรัฐบาลพร้อมผลักดันและสนับสนุนมาตรการ อำนวยความสะดวกต่อการส่งออก เพิ่มมูลค่าการค้า ทั้งผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ การส่งเสริมเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (eWTP Thailand Duty Free Zone) และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเกษตรระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพจากทั่วโลก จึงเชื่อมั่นได้ว่าการส่งออกไทยจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567” นายชัย กล่าว