นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า วันนี้ (27 มีนาคม 2567) สำนักงานอัยการสูงสุดมีความคืบหน้าคดีสำคัญที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 คดี  ดังนี้
คดีที่ 1 อัยการสูงสุดไม่รับรองให้ฎีกาคดีฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก เป็นผลให้คดีถึงที่สุด
ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 2 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 3 นางมาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่ 4 นายประพันธ์ คูณมี จำเลยที่ 5 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.590/2562 โดยคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.275/2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.591/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 1 นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 2 นายอมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 3 นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 4 นายศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่ 5 นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 6 นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 7 นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 8 นายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 9 นายประยุทธ วีระกิตติ จำเลยที่ 10 นายสุชาติ ศรีสังข์ จำเลยที่ 11 นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 12 นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี จำเลยที่ 13 นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 14 นายพิเชฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 15 และให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3881/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.592/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายวีระ สมความคิด จำเลย (รวมทั้งหมด 3 คดี ให้เป็นคดีเดียวกัน) โดยกล่าวหาจำเลยทั้งหมด ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุมร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากจากเสรีภาพในร่างกาย
คดีทั้งหมดดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

คดีดังกล่าวต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เว้นแต่กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้ลงชื่อรับรองในฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับรองฎีกาคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีถึงที่สุด


คดีที่ 2 อัยการสูงสุดเห็นชอบควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

คดีนี้ อัยการสูงสุดรับดำเนินคดีอาญาฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.11/2565 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นควรไม่อุทธรณ์ และจะได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบและรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 79 วรรคสอง ต่อไป


คดีที่ 3 อัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้องนายจรูญศักดิ์ เอกสวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 นายณรงค์พล แก้วสาร ผู้ต้องหาที่ 2 นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 4 และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 5
ตามที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหนังสือที่ ตช 0026.(10)/4929 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ถึงสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 1 ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 11/2563 คดีระหว่าง พันตำรวจโท ไสว จันทร์มา ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้กล่าวหา นายจรูญศักดิ์ เอกสวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 5 คน 
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายจรูญศักดิ์ เอกสวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่ง
นายช่างรังวัด 6 สำนักงานมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ กรมที่ดิน ได้ออกเอกสารสิทธิ์จำนวนหลายแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (โฉนดปลอม) โดยที่ดินที่ออกเอกสารปลอมดังกล่าวอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่สัมปทานของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 4 และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 5 โดยกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 ดังกล่าว มีนายณรงค์พล แก้วสาร ผู้ต้องหาที่ 2 กระทำการสนับสนุน และต่อมาผู้ต้องหาที่ 4 และ 5 ได้นำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย 
เหตุเกิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 – พฤษภาคม 2549 ต่อเนื่องกัน ที่อำเภอแก่งคอย และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เกี่ยวพันกัน 
คดีดังกล่าว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1, 2, 4 และ 5 ของพนักงานอัยการ และเสนอสำนวนคดีพร้อมความเห็นให้อัยการสูงสุดชี้ขาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145, 145/1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีคำสั่ง ดังนี้
1. ชี้ขาดให้ฟ้อง นายจรูญศักดิ์ เอกสวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 151 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7
2. ชี้ขาดให้ฟ้อง นายณรงค์พล แก้วสาร ผู้ต้องหาที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 91, 151 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7
3. ชี้ขาดให้ฟ้อง นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 4 และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 5 ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4


สำหรับนายจักราวุธ นิตยสุทธิ ผู้ต้องหาที่ 3 ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1
สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งคืนสำนวนให้สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 1 เพื่อดำเนินการนำตัวผู้ต้องหาที่ 1, 2, 4 และ 5 ส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ต่อไป