เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง กรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้กล่าวถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ถือว่าเป็นความสำเร็จหนึ่งนั้น
นายสุริยะต้องกลับไปดูข้อมูลพื้นฐานที่มาที่ไปของการริเริ่มสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้ออกมาพูดเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่คนที่เป็นถึงรัฐมนตรีเชื่อว่ามีความรู้พื้นทางในทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองดีว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันพัฒนามาตั้งแต่ต้น ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เริ่มต้นให้สนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้น เพราะได้อนุมัติงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการสร้างสนามบินหนองงูเห่า (ชื่อขณะนั้น) และต่อมาก็ได้ขอพระราชทานชื่อเป็น ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’
นายชวน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น มองการเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเมืองไทยมากขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องขยาย และต้องสร้างสนามบินไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกเหตุผลสำคัญคือสนามบินดอนเมืองไม่สามารถขยายได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ และรัฐบาล ชวน หลีกภัย ก็เริ่มต้นสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์เหล่านี้ อย่าพูดเพียงเอาใจ ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีต้องตรงไปตรงมาในการให้ข้อมูลกับประชาชน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนได้
นายราเมศกล่าวต่อว่า ประเด็นที่กล่าวว่า นายทักษิณได้แก้ไขวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยทำให้ประเทศไทยสามารถจ่ายเงินกู้ธนาคารไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้ตรงเวลา ก็เป็นการพูดไม่ตรงตามข้อเท็จจริง แต่ความจริงรัฐบาลนายชวนคือผู้หยุดการเบิกเงินก่อนกำหนด และเก็บเงินไว้เพื่อใช้หนี้ ในเรื่องนี้อยากให้ได้ไปอ่านบทความของ ดร รัชดา ธนาดิเรก อดีต สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างถูกต้องครบถ้วนคือ
“นายทักษิณ ชินวัตร เข้าบริหารประเทศได้ 2 ปีครึ่ง สามารถใช้หนี้IMFได้หมด! มาคิดไปด้วยกัน เงิน 510,000 ล้านบาท ที่ต้องใช้คืน รัฐบาลมีปัญญาหามาหรือในเวลาสั้นๆแค่นั้น ไม่ว่าใครจะบริหารประเทศก็ตาม
ทบทวนประวัติศาสตร์ คือ รัฐบาลที่ไปกู้ IMF คือรัฐบาล พล.อ.ชวลิต จงใจยุทธ ในปี 2540 และมี นายทักษิณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี, ต่อมารัฐบาลนายชวน หลีกภัย เริ่มทยอยใช้หนี้ IMF ไปบางส่วนตามกำหนด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ปี 2542 สามารถดึงเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะติดลบ 12% กลับมาเป็นบวกที่ 4.4% ปี 2543 เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.6%, รัฐบาลนายชวน ในปี 2543 จึงตัดสินใจไม่กู้เงินจากIMF เต็มวงเงินกู้ที่ทำไว้ในสัญญา จึงทำให้ระยะเวลาชำระหนี้สั้นลง และเร็วกว่ากำหนดเดิม 1 ปี และในปี 2546 รัฐบาลนายทักษิณใช้หนี้ IMF ตามหน้าที่ต่อจากรัฐบาลนายชวน โดยเลือกที่จะไปกู้เงินจากธนาคาร ADB ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย IMF หลายเท่า เพื่อนำมาใช้หนี้ IMF แต่ใช้หนี้เร็วกว่าเดิมแค่ไม่กี่เดือน และรัฐบาลได้หน้า (ซึ่งยังอวดอ้างจนทุกวันนี้) แต่กลับทำให้ประเทศต้องเสียเงินมากขึ้น นี่หรือเรียกว่าเพื่อประเทศชาติ”
นายราเมศกล่าวตอนท้ายว่า อยากให้นายสุริยะซึ่งเป็นถึงรัฐมนตรีควรออกมาให้ความจริงกับประชาชน อย่าเอาใจนายทักษิณมากไป
ส่วนเรื่องนายทักษิณเดินทางไปพรรคเพื่อไทย โดยส่วนตัวไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะพรรคเพื่อไทยคือพรรคครอบครัวนายทักษิณ การที่หัวหน้าครองครัวไปบ้านก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะแปลกก็คือนักโทษที่ได้รับการพักโทษมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ที่ประชาชนสงสัย